สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้เสนอให้มีการปฏิรูปอีไอเอ และอีเอชไอเอ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติประชุมใหญ่เดือนธ.ค.นี้ เตือนภัยรับมือสถานการณ์สิ่งแวดล้อม หลังปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าทำไร่ และผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศ อาจทำให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงมีปัญหาโรคทางเดินหายใจ เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุมเข้มการทำ EIA และ EHIA

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) แถลงข่าวการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18-20 ธันวาคม ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยเป้าหมายหลักของการดำเนินงานในปีนี้ มุ่งเน้นแนวคิดสำคัญคือ “ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ” มีระเบียบวาระสำคัญ 9 หัวข้อ ในจำนวนนี้มี 3 หัวข้อที่ครอบคลุมประเด็น “สุขภาพในนโยบายสิ่งแวดล้อม” ได้แก่ การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพ

ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ถือว่ามีความสำคัญในการเปิดพื้นที่สาธารณะ ให้ทุกภาคีทุกภาคส่วนในสังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงปัญหาและทางออกในการสร้างสุขภาวะอย่างสมานฉันท์ จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของคจ.สช.ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาด้านสุขภาพของคนไทย มิได้มาจากการดำเนินชีวิตประจำวันเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย ที่ก่อผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนอีกด้วย

ดร.ศิรินา กล่าวว่า แม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องสำคัญในขณะนี้ แต่ทุกฝ่ายก็ควรหันกลับมาทบทวนผล กระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชนที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาที่คจ.สช.เป็นห่วงคือผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนที่ไม่ได้ผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างดีเพียงพอ , การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สร้างมลพิษ , การบุกรุกเผาป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การเกษตร รวมถึงปัญหาหมอกควันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

ด้านนางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานวิชาการแต่ละประเด็นได้จัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 9 ระเบียบวาระเสร็จสิ้นแล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่จะส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปลายปีนี้ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ช่วยกันพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้

สำหรับ 3 ระเบียบวาระที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม นางกรรณิการ์ มองว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยมีบทเรียนจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ถูกชี้นำจากภาครัฐและขาดการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน นำไปสู่ผลกระทบทางต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรง แม้ปัจจุบันจะมีกระบวนการทางกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น แต่คจ.สช.ยังพบว่ามีช่องโหว่ที่ให้การดำเนินการไม่บรรลุผลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเห็นควรให้มีการปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อให้ปัญหาที่จะตามมาบรรเทาเบาบางลงได้

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ ในฐานะคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นเรื่องการปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กล่าวถึง ปัญหาของการทำอีไอเอในปัจจุบันว่ามีการประเมินเป็นรายโครงการ แต่ไม่มีการประเมินศักยภาพการรองรับของพื้นที่ที่เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานอยู่หนาแน่น ดังนั้นประเด็นที่จะนำเสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ คือ การปฎิรูปอีไอเอและอีเอชไอเออย่างเป็นรูปธรรม โดยควรให้มีการจัดทำอีไอเอในภาพรวม และประเมินในเชิงยุทธศาสตร์โดยไม่จำกัดแต่เพียงมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ควรรวมมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ด้วย

ด้านนางสุชญา อัมราลิขิต ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้กิจการ 35 ประเภท ต้องทำ ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ก่อนการเริ่มดำเนินกิจการ แต่ปัจจุบันมีข้อจำกัดในการนำหลักวิชาการที่ถูกต้องมาใช้ในการจัดทำรายงานการประเมินผลดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในการวิเคราะห์ ประเมินผล และควรให้ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการด้วย ดังนั้น จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้ได้นำเรื่องการปฏิรูปอีไอเอและอีเอชไอเอเข้าสู่การพิจารณาเพื่อแก้ไขร่วมกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กจำนวนหนึ่งได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เนื่องจากการเผาไหม้ทำให้เกิดควันดำจำนวนมากและเขม่าฟุ้งกระจายไปทั่ว กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อยู่ในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง หากมีการบริหารจัดการที่ดีและคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นพลังงานทางเลือกที่ดีสำหรับบ้านเรา

สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการแก้ไข คือวางกฎระเบียบให้โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาดเล็กต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) และมีมาตรการกำกับดูแลของภาครัฐที่ดีเพียงพอ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ให้เป็นมาตรฐานในการดำเนินโครงการ รวมทั้งควรกำหนดเงื่อนไขในการตั้งโรงไฟฟ้าประเภทนี้ให้ห่างไกลจากชุมชน จะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนไม่ต้องสูดดมควันพิษเข้าไป

“โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดต่ำกว่า 150 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ยาก สุดท้ายกลายเป็นสารเผาไหม้ไม่หมดถึงร้อยละ 10-38 เกิดมลพิษที่อยู่ในรูปฝุ่นละอองขนาดเล็ก เมื่อผ่านเข้าไปถึงปอดและถุงลมที่มีผลต่อโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งตามผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกยืนยันว่า การสูดดม มีผลต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคในระบบหายใจ โรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้วจับหืดบ่อยขึ้น” นพ.ณรงศักดิ์กล่าว

ด้านนางวิจิตรา ชูสกุล เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาอีสาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นจำนวนมากตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในช่วง 10ปี (พ.ศ.2555-2564) ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำหนดเป้าหมายการใช้ชีวมวลผลิตไฟฟ้าให้ได้ 3,630 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นพลังงานทางเลือกร้อยละ25 ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากว่า 84 แห่ง และอยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการอีก 309 แห่ง หากไม่มีการบริหารจัดการหรือควบคุมที่ดีพอ การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม จากสารและฝุ่นละอองจำพวกขี้เถ้าจากการเผาไหม้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ไม่สมบูรณ์ เกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งเกิดน้ำเสียและแย่งน้ำชุมชนใช้ เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และทำให้ถนนในชุมชนชำรุดเสียหายจากรถบรรทุกที่ใช้ในการขนพืชชีวมวลเข้าสู่โรงไฟฟ้า

ปัญหาที่พบขณะนี้คือ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ามีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าตั้งแต่ 150เมกะวัตต์ขึ้นไปต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และรายงานผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA)ส่วนโรงงานขนาดเล็กตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปทำเฉพาะ EIA จึงมีผู้ประกอบการสร้างโครงการขนาด 9.0-9.9 เมกะวัตต์หลายโครงการในบริเวณเดียวกันจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยในปี 2553 มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เสนอขายไฟฟ้า 281 แห่ง เป็นโครงการขนาด 9.0-9.9 เมกะวัตต์ถึง 205 แห่ง ซึ่งโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเหล่านี้ ยังขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเน้นการเผาตรง(directed burning) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพต่ำและสร้างมลพิษสูง

แนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐ ควรให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำกับดูแล และแยกประเภทการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการต่างหากจากโรงไฟฟ้าทั่วไป ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งผลักดันให้การวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ มีส่วนร่วมและการรับฟังความเห็นของประชาชน รวมถึงการกำหนดระยะห่างที่เหมาะสมจากชุมชน นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานควรทำแผนพลังงานจังหวัด โดยศึกษาพื้นที่ของแต่ละจังหวัดว่า มีศักยภาพในการทำโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือไม่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาใบอนุญาต จัดตั้งโรงไฟฟ้า

ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ประธานคณะทำงานวิชาการประเด็นการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาการบุรุกป่าเพื่อเผาทำพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากมีสารเคมีทางการเกษตรเช่น ยาฆ่าหญ้าติดมาด้วย การสูดดมของประชาชนจึงก่อให้เกิดอันตราต่อสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในขณะนี้สถานการณ์หมอกควันรุนแรงขึ้นทุกปี ดังนั้น ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องเข้ามาดูแลร่วมกับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
สถานการณ์มลพิษจากหมอกควันในภาคเหนือ มักจะรุนแรงที่สุดในเดือนมีนาคมของทุกปี

ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าเกิดจาก 4 ปัจจัยสำคัญได้แก่ 1. การเผาป่าและการเผาเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดที่มีมากในภาคเหนือตอนบน เช่น อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีการปลูกกว่า 1 แสนไร่ หรือที่จังหวัดน่าน มีการปลูก 3-4 แสนไร่ 2. การเผาขยะตามบ้านเรือนประชาชน ที่เกิดขึ้นทุกวันเนื่องจากระบบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง และไม่มีพื้นที่ฝังกลบที่ดีพอ ทำให้ต้องใช้วิธีการเผาเป็นหลัก 3.ปัญหาการจราจร ที่ขาดระบบขนส่งมวลชนที่ดีพอ เช่น จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากกรุงเทพมหานคร แต่กลับไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลได้ 4. ภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้เชื้อเพลิง เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ซึ่งมีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

จากการเฝ้าติดตามปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าหมอกควันที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ 4 โรคสำคัญคือ 1. โรคทางเดินหายใจ หอบหืด เกิดกับผู้สูดดมสารมลพิษเหล่านี้โดยตรงอาจต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากสูดอากาศไม่ดีเข้าไป ทำให้การทำงานของเม็ดเลือดแดงมีปัญหา 3.โรคผิวหนัง เนื่องจากสารพิษมีลักษณะเป็นกรดสูงจะทำให้ผู้ได้รับเกิดปฏิกิริยาตามผิวหนังหรือเกิดอาการแสบตา 4. ผลกระทบต่อสมอง มีโอกาสทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ