ก่อนแผ่นดินท่าศาลาจะกลายเป็นอื่น : ดอน ทองคำกับท่าเรือน้ำลึกเชฟรอน ควรหรือไม่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมบนครัวชุมชน

หากคำว่า “พัฒนา” ทำให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นย่อมนับเป็นเรื่องดีและจะยิ่งดีขึ้นหากเป็นการร่วมคิดจากคนในพื้นที่ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน หากแต่ว่าเป็นการพัฒนาและวางแผนจากคนภายนอกซึ่งอาจเปลี่ยนชีวิตเจ้าของบ้านอย่างไม่อาจย้อนคืน อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราชที่กำลังจะถูก “พัฒนา” ด้วยจนอาจเปลี่ยนให้จังหวัดนี้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ครบวงจร เช่น โครงการโรงกลั่นแยกก๊าซ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อน ท่าเรือน้ำลึก โดยหนึ่งโครงการที่ชุมชนเห็นต่างอย่างมากคือ โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หรือที่มีชื่อเล่นที่เข้าใจกันได้ง่ายคือโครงการท่าเรือน้ำลึกที่บริเวณบ้านบางสาร อำเภอท่าศาลา

จากความเห็นต่าง เห็นค้าน พวกเขาเลือกใช้เครื่องมือเอชไอเอชุมชนจนได้ข้อมูลว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีความมั่นคงทางด้านอาหารสูง พบว่าที่นี่มีสัตว์ทะเลชุมชุม มีแพปลาและสายพานอาหารทะเลส่งไปทั่วโลก กระทั่งชาวประมงขนานนามพื้นที่นี้ว่า “อ่าวทองคำ” ซึ่งคือพื้นที่ประมงชายฝั่งอ่าวสิชล-ท่าศาลา นอกจากจะมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรอาหารแล้ว พื้นที่นี้ยังมีระบบนิเวศน์เฉพาะที่เรียกว่า “ดอน” หรือสันดอนในทะเลอ่าวท่าศาลา สิชล เกิดจากการตกตะกอนและทับถมเป็นเวลานานยิ่งนานยิ่งขนาดใหญ่ ซึ่งดอนลักษณะต่างๆ ก็จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่ต่างกันไป เช่น ถ้าตกตะกอนขนาดใหญ่เช่นลูกรัง ก้อนกรวด เปลือกหอย เศษปะการัง เรียกว่า ดอนแก่ ซึ่งเป็นที่อาศัยอาศัยของปลาล่าเนื้อ ได้แก่ปลาอินทรีย์ ปลากะพง ส่วนตะกอนขนาดเล็กและแยกตัวไปทับถมในอีกบริเวณหนึ่ง เรียกว่าดอนอ่อน ซึ่งเป็นอาศัยของกุ้ง ปู หอย กั้งและปลาหน้าดิน เป็นต้น อาจเปรียบได้ว่าดอนคือโอเอซิสในท้องทะเลเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลผืนนี้ ภูมิความรู้เรื่องดอนนี้เป็นสิ่งที่ประมงฝ่ายฝั่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อกำหนดเครื่องมือจับปลา โดยกำหนดเครื่องมือในการจับปลา เวลาจับปลาตามลักษณะของลมแปดทิศ

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวบ้านที่นี่จะลุกขึ้นมารักษาผืนแผ่นดินซึ่งเป็นแหล่งอาหารให้ทั้งคนในพื้นที่และคนทั้งโลกไว้ โดยหนึ่งในกระบวนการที่ชุมชนใช้จัดทำข้อมูลศักยภาพชุมชนเพื่อที่จะบอกว่าที่เป็นอยู่เดิมพวกเขามีดีอย่างไร พวกเขาพึ่งพาทรัพยากรนี้อย่างไร เพื่อที่ว่าหน่วยงานที่เป็น “ผู้ตัดสินใจ” จะได้มีข้อมูลในมือที่รอบด้านมากพอเพื่อที่จะสร้างนโยบายที่ดีต่อชุมชน กระบวนการนั้นก็คือการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน หรือ CHIA ซึ่งเป็นการจัดทำเอชไอไอในรูปแบบหนึ่งจาก 4 แบบที่ได้ระบุไว้ตามประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารท่าศาลา สิชล นครศรีธรรมราช ได้บอกเล่าถึงผลกระทบและวิธีเตรียมการในการแก้ปัญหาของคนในพื้นผ่านกระบวนการจัดทำ CHIA ชุมชนหรือเอชไอเอชุมชนว่า

“แผ่นดินท่าศาลาของพวกเรานั้นมีการพัฒนามากว่าร้อยปี จนพวกเราได้ชื่อว่าอ่าวทองคำ และกลายเป็นแหล่งอาหารของคนทั้งโลก แต่วันนี้พวกเรากลับต้องมาเจอกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่พวกเราไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งคนที่ท่าศาลานั้นได้สรุปร่วมกันแล้วว่านี่เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่พวกเราเคยเจอมา หลายโครงการที่กำลังจะผุดขึ้นที่บ้านของเราและแหล่งอาหารของคนทั้งโลกนั้นล้วนเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อพวกเราทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรณีของบริษัทน้ำมันใหญ่เชฟรอน ที่จะมาสร้างท่าเรือบนพื้นที่ทำกินของพวกเรา และจัดทำ EIA โดยระบุว่า พื้นที่ท่าศาลาของพวกเรานั้นเป็นทะเลร้างเป็นทะเลเสื่อมโทรม

พวกเราไม่สามารถปล่อยให้ข้อมูลแบบนี้ถูกเผยแพร่ออกไปโดยผู้คนไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงไม่ได้ พวกเราจึงได้รวมตัวกัน โดยข้อมูลที่ได้จากการทำเอชไอเอชุมชนนั้นพบว่าจะมีชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการนี้ของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ โดยชาวประมงพื้นบ้านจาก 11 หมู่บ้านระบุข้อมูลอย่างชัดเจนว่าการประมงพื้นบ้านจาก 11หมู่บ้านนั้นได้มีการาจ้างงานในชุมชนกว่า 5,000 คน ซึ่งชาวบ้านแต่ละคนนั้นจะได้รายได้จากการทำประมงพื้นบ้านอย่างต่ำวันละ 300-1,000 บาท

การพูดคุยกันของชาวบ้านผ่านกระบวนการนี้เป็นการถักทอและตอกย้ำความรู้สึกของชาวบ้านในการเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับคนทั้งโลกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งชาวบ้านที่นี่ได้ก้าวข้ามการต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเชฟรอนและการต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินไปแล้ว หากแต่การต่อสู้ของชาวบ้านผ่านกระบวนการ CHIA ในครั้งนี้นั้นเป็นการต่อสู้ที่สร้างกติกาและสร้างข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จะปกป้องพวกเขาจากการรุกรานของทุกๆ ที่ได้ ซึ่งการปกป้องตนเองของชาวบ้านในครั้งนี้นั้นพวกเขาได้ระบุอย่างชัดเจนว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว หากแต่ทำเพื่อรักษาแหล่งอาหารให้กับคนทั้งโลกไว้ด้วย” ตัวแทนเครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร ท่าศาลา สิชล นครศรีธรรมราชระบุ

ตามกระบวนการเอชไอชุมชนในพื้นที่ท่าศาลานั้นทำให้ชุมชนได้รับรู้ว่าท่าศาลาไม่ใช่เพียงชุมชนเล็กๆ ที่กำลังจะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้น หากแต่เอชไอเอชุมชนนั้นได้เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้ธรรมชาติและวิถีชีวิตที่งดงามนั่นคือท่าศาลาเป็นแหล่งวางไข่ และเจริญเติบโตของปลาเป็นจำนวนมากเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนแต่ปีละหลายร้อยล้านบาท

แต่ในวันนี้ที่รายงานการประเมินผลกระทบ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ของโครงการดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ส่วนมติอย่างเป็นทางการอยู่ระหว่างการรับรองรายงานการประชุม ในขณะที่ 28 – 30 กันยายนชาวท่าศาลาร่วมกับอำเภอจัดงานงาน “รวมพลคนกินปลา” เพื่อบ่งบอกศักยภาพของพื้นที่และสื่อสารกับผู้บริโภคว่า วันนี้ท่าศาลาสมบูรณ์เพียงใดแต่อนาคตนั้นยังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ข้อมูลที่พวกเขาร่วมค้นหากันมาเพื่อแสดงศักยภาพด้านประมงที่เป็นจุดแข็งของพื้นที่นี้

เมื่อข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ได้ถูกนำเสนอออกมาคงต้องมีคำถามออกไปยังหน่วยงานตัดสินใจว่าจะตัดสินใจพัฒนาพื้นที่นี้อย่างไรภายใต้เหตุผลและเงื่อนไขอย่างไรที่จะให้เกิดสุขภาวะและความเป็นสุขของผู้คนที่นี่