บางปะกง…แม่ของเรา เสียงจากเยาวชนขอเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และวางแผนอนาคตของแม่น้ำบางปะกง

บางปะกง…แม่ของเรา

คณะนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 สายศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ

คนไทยแต่อดีตเรียกขานสิ่งที่มีบุญคุณแก่ชีวิตของตนว่า “แม่” ไม่ว่าจะเป็นแม่พระธรณี แม่คงคา แม่โพสพ
หรือคำง่าย ๆ ดั่งเช่น “แม่น้ำ” ทั้งนี้ “แม่”เหล่านี้ได้เกื้อหนุนชีวิตแก่เรามาเนิ่นนาน และเราไม่อาจแย้งได้ว่าชีวิตที่มีแม่เป็นชีวิตที่มีความอบอุ่นและมั่นคงคนไทยเกิดมาโชคดีที่สุด เพราะได้เกิดบนแผ่นดินที่อุดมไปด้วยสายน้ำ แม่น้ำทุกสาย เปรียบประหนึ่งเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทย…และแม่น้ำบางปะกงก็เช่นกัน

แม่น้ำบางปะกง เป็นแหล่งทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ และแหล่งอาชีพที่สำคัญของผู้คนทั้งในด้านการประมงและเกษตรกรรม แม่น้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่หากพิจารณาถึงพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงจะครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดนครนายก จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี รวมทั้งหมดเป็นพื้นที่ประมาณ 22,456 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่เพียงเท่านี้สามารถผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนไทยเกือบทั้งประเทศมานานแสนนาน

ต้นกำเนิดของแม่น้ำ บางปะกงอยู่ที่อำ เภอบางน้ำ เปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งแม่น้ำนครนายกจากทางเหนือ ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปราจีนบุรีที่ไหลมาจากตะวันออกเกิดเป็นแม่น้ำบางปะกงและไหลผ่านอำเภอบางคล้า อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และออกสู่ทะเลต่อไป

สองฝั่งตลอดเส้นทางน้ำบางปะกง เกิดชุมชนที่ทำมาหากินหรือประกอบอาชีพแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ตั้งแต่ การทำนา ทำไร่ ทำสวนและการประมง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้คนในแต่ละพื้นที่จะเลี้ยงตนด้วยอาชีพใด สิ่งที่พวกเขาทั้งหลายแบ่งปันร่วมกันคือแม่น้ำบางปะกง ….

พวกเรา…เยาวชนชาวกรุงเทพก็พึ่งพิงแหล่งอาหารซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากลำน้ำบางปะกงเช่นกัน ดังนั้นหากเกิดวิกฤติต่อแหล่งอาหารของเรา พวกเราคงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขาดแคลน การต้องรับประทานอาหารที่มีราคาแพง เพราะผลิตไม่ได้เองในประเทศเป็นต้น เราเริ่มศึกษาแม่น้ำบางปะกงผ่านการ ”ตามรอยปลากะพง” ซึ่งเป็นเมนูที่เราชอบรับประทานกันทุกคน และปลากะพงก็มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่แม่น้ำบางปะกง นั่นคือสาเหตุที่ว่า เหตุใดเราจึงศึกษาเรื่องของแม่น้ำบางปะกง

กระบวนการศึกษาแม่น้ำ บางปะกงของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สายศิลป์โรงเรียนรุ่งอรุณ ได้แบ่งพื้นที่ศึกษาออกเป็น 3 พื้นที่ โดยตามรอยทรัพยากรอาหารที่สำคัญของพื้นที่ และในที่สุดก็จับกลุ่มอาชีพหลักของพื้นที่ได้ ซึ่งพื้นที่ศึกษาของเรา ได้แก่

พื้นที่บางปะกงช่วงบน ได้แก่ พื้นที่ศึกษาในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตที่ราบตอนกลางของลุ่มน้ำ เป็นพื้นที่ที่มีชุดดินอันอุดมสมบูรณ์เหมาะสมแก่การเกษตร ชาวบ้านยังคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาการยกร่องสวน เพื่อการทำสวนมะม่วง สวนมะพร้าวน้ำหอม และสวนหมากพลู

พื้นที่บางปะกงช่วงกลาง ได้แก่ พื้นที่ศึกษาในอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่บางส่วนของอำเภอพานทองจังหวัดชลบุรีแต่เดิมปลูกข้าวกันมาก อยู่ในเขตที่ราบตอนกลางของลุ่มน้ำ และเป็นพื้นที่ที่มีชุดดินอันอุดมสมบูรณ์เหมาะสมแก่การเกษตรเช่นกัน ในอดีตทำนากันมาก ปัจจุบันชาวบ้านหันมาเพาะเลี้ยงกุ้งและปลากันมาก

พื้นที่บางปะกงช่วงปลาย ได้แก่ พื้นที่ศึกษาในอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตปลายน้ำถึงบริเวณปากน้ำ ซึ่งชาวบ้านมีการเพาะเลี้ยงปลากะพงกันอยู่มากและจากการลงพื้นที่ พวกเราพบว่าแม่น้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำที่นำความ “มีอยู่มีกิน” มาสู่ทุกคนในพื้นที่ มาแต่อดีต เป็นพื้นที่ที่แม้เราขณะที่เดินสำรวจและแวะเวียนทักทายชาวบ้านอยู่นั้น ก็ต่างได้รับการต้อนรับด้วยอาหารสารพัด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ที่แม้ยังไม่สุกรสชาติก็ยังจัดเหลือเกินและ เพียงแค่ข้ามคันสวนก็ได้ลิ้มลองมะพร้าวน้ำหอม น้ำตาลสด สำหรับกลุ่มที่ศึกษาในพื้นที่ตอนล่าง ก็ต่างอิ่มหนำสำราญด้วยกุ้ง หอย ปู ปลาไปตามกัน

อย่างไรก็ตามแม่น้ำบางปะกงในวันนี้ หากเปรียบเป็นคน ก็เริ่มป่วยไข้ ไม่แข็งแรง และแจ่มใสตามเดิม ด้วยอาการคล้ายผู้ติดเชื้อในกระแสโลหิต อะไรคือต้นเหตุของอาการป่วยนี้ และในวันนี้ลูกหลานอย่างเราจะดูแลแม่ของเราอย่างไร

*** บทความจากหนังสือ “แหล่งอาหารบางปะกงช่วงต้น กับ อุตสาหกรรมน้ำดิบ”

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านต่อ  คลิก https://www.thia.in.th/welcome/article_read/143