สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 รับรองมติการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 รับรองมติโรงไฟฟ้าชีวมวล

สำหรับการพิจารณาวาระ “การป้องกันและลดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล” ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนาได้ รศ.ดร. กาสัก เต๊ะขันหมาก ในฐานะ ผู้อำนวยการ กลไกการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม สถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนา ทีมประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี มาเป็นประธานคณะอนุกรรมดำเนินการประชุม (คณะที่ 1) และมีภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศเข้าร่วมซึ่งหลังจากนี้จะนำมติฯ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยได้มติดังนี้คือ

1.ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งรัดดำเนินการดังนี้

1.1 ขอให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาศักยภาพในการรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาพรวมของจังหวัด จัดทำแผนพัฒนาพลังงานและแผนแม่บทพลังงานชีวมวลของแต่ละจังหวัด โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาและอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่

1.2 ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงมาตรฐานและหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมือง เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล

1.3 ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ปรับปรุงบัญชีประเภทอุตสาหกรรมประเภทกิจการโรงไฟฟ้า โดยให้แบ่งเป็นประเภทย่อย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดมาตรการควบคุมและการป้องกันผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

1.4 ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทบทวนปรับปรุงประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการออกใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต ให้ครอบคลุมถึงเรื่องดังต่อไปนี้

(1) กำหนด ที่ตั้งและระยะห่างที่ชัดเจนและเหมาะสม ระหว่างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดกำลังผลิตต่าง ๆ กับชุมชน สาธารณสถาน แหล่งน้ำสาธารณะ แหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการอื่น โดยให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชน

(2) ปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์คุณภาพน้ำทิ้งและอากาศเสียที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้า คุณภาพเชื้อเพลิง ประสิทธิภาพของเตาเผา ตะแกรงดักฝุ่นละออง รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันและลดผลกระทบ

(3) จัดทำแผนสนับสนุนให้มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล และมีมลพิษต่ำ

(4) เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในเรื่องการจัดเก็บเชื้อเพลิงและขี้เถ้าในระบบปิด และมาตรการในการขนส่งเชื้อเพลิงและขี้เถ้าให้สามารถป้องกันฝุ่นปลิวได้

(5) ให้มีมาตรการลงโทษทางแพ่งและอาญา รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการที่ขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย เพื่อเปิดเผยให้สาธารณะได้รับทราบ

(6) ให้มีการจัดตั้งกองทุนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือ เยียวยา รวมถึงการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

(7) ให้เปิดเผยข้อมูลผลการปฏิบัติตามแผนและมาตรการป้องกันและลดผลกระทบของโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สาธารณะได้รับทราบ

(8) ห้ามใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล

(9) ให้มีการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อย่างมีคุณภาพในทุกขั้นตอน โดยปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 56 57 58 59 66 และ 67

1.5 ขอให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาคู่มือและแนวทางการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เผยแพร่และสร้างความเข้าใจในการศึกษาข้อมูล และการมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในระดับชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) ทั้งก่อนการอนุญาต การติดตามตรวจสอบ และการเฝ้าระวัง

1.6 ขอให้กรมอนามัย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ./2535 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้

(1) ศึกษาและจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล

(2) เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535หมวดกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การสร้างและประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลในทุกขนาดจำเป็นต้องมีแผนป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพ

(3) สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อควบคุมกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล ติดตาม และประเมินผล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน

1.7 ขอให้สำนักงานปลัดกระทรวง (สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ที่ 1-16) และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังและสนับสนุนอุปกรณ์ในการเฝ้าระวังตรวจสอบ คุณภาพสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงสนับสนุนการจัดทำแผนเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม

2. ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7
สำหรับบรรยายการการประชุมพิจารณาระเบียบวาระนี้ มีตัวแทนสมัชชาสุขภาพจากหลายจังหวัดและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมและถกเถียงกันในรายละเอียดของวาระนี้ใน 3ประเด็นหลักคือ 1. พื้นที่ตั้งและระยะห่างที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าชีวมวลกับชุมชน 2.การจัดทำแผนการติดตามและลดผลกระทบจากการดำเนินการโรงไฟฟ้าชีวมวลและบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.การประเมินผลกระทบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้า

ด้านตัวแทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานีเสนอให้เพิ่มการจัดการคุณภาพน้ำเสียที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าเนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้น้ำในปริมาณมาก

ตัวแทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดจันทบุรี และตัวแทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย เสนอว่าต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสำหรับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ เนื่องจากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าขนาด 9.0-9.9 เมกะวัตต์ จำนวนมากที่ตั้งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ

ขณะที่ตัวแทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุรินทร์เสริมว่าหน่วยที่ทำรายงานการประเมินผลกระทบต้องมาจากองค์กรอิสระไม่ใช่ของเอกชนหรือของรัฐ ด้านตัวแทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดตราด เสนอห้ามใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ได้รับความเห็นชอบจากภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ

รายละเอียดเพิ่มเติม

1. ดาวน์โหลดมติได้ที่ https://www.thia.in.th/welcome/article_read/196

2. ชมวิดีโองานประชุม

3. เอกสารหลัก/เอกสารมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 

4. มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ-ครั้งที่-5