ท่าเรือน้ำลึก เชฟรอน-ประมงชายฝั่งท่าศาลา อะไรคือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน ???

หากเราเคยฝันและเชื่อว่า นิคมอุตสาหกรรม แท่นขุดเจาะน้ำมัน ท่าเทียบเรือน้ำลึก หรือ Mega Project ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งและความสุขของสังคม

อีกมุมที่ บ.บางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเคยถูกเลือกให้เป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกที่รองรับการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอน (โครงการก่อสร้าง “ศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม” (Shore Base) ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) ที่นี่ก็มีเศรษฐกิจประมงชายฝั่งที่มีรายงานการศึกษาพบว่าเศรษฐกิจประมงที่นี่ ทำเงินให้แต่ละชุมชนชายฝั่งนับ 100 ล้านบาทต่อปี มีลูกจ้างในสายพานธุรกิจสัตว์ทะเลกว่า 5,000 คน มีเส้นทางเศรษฐกิจตั้งแต่แพปลารายย่อยไปจนถึงธุรกิจสัตว์ทะเล เป็นระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต นิเวศ และสภาพแวดล้อม มีการแบ่งปันกันใช้ทะเล ที่สำคัญพวกเขาภูมิใจในความเป็นชาวประมง เลี้ยงดูครอบครัวได้

แม้อำเภอท่าศาลาจะเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ที่ติดกับปากแม่น้ำกลาย แต่ด้วยความยาวของชายหาดนครศรีธรรมราชที่มีความยาวถึง 225 กิโลเมตร ก็เป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและระบบนิเวศ มีความยิ่งใหญ่และคุณค่ามหาศาล ธรรมชาติสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างแนบแน่น ภายใต้นิยาม เขา-ป่า-นา-เล จากสายลมบนเทือกเขาหลวงที่กั้นกลางระหว่างนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี เกิดฝนตกชะอาหารและความอุดมสมบูรณ์จากที่สูง ลงสู่ที่นาในเบื้องล่าง ผ่านแม่น้ำนับ 10 สาย ก่อนไหลไปสู่ท้องทะเลเกิดเป็น “ดอนทองคำ” ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำอันหลากหลาย
เขา-ป่า-นา-เล ไม่ได้เป็นเพียงความผูกพันของธรรมชาติต่อธรรมชาติ แต่ยังสะท้อนความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องระหว่างผู้คนในท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีต คนบนเขาจะนำของป่ามาแลกอาหารทะเล ในทางกลับกันผู้คนบนชายหาดก็นำสิ่งที่จับมาได้จากผืนน้ำแลกข้าวและของจำเป็นจากป่าเขา

ความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติที่อ่าวท่าศาลา ก่อให้เกิดการจ้างงานเกี่ยวข้องกว่า 5,000 คน เป็นสายพานเศรษฐกิจและอาชีพต่อเนื่องจากประมงชายฝั่งอีกเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเกรงว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชุมชนเหล่านี้ จะต้องสูญสิ้นไปด้วยโครงการขนาดใหญ่ด้านปิโตรเลียม

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองและศูนย์ศึกษานโยบายเพื่อการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิชีววิถี ทำการศึกษาในหัวข้อ “ความยุติธรรมเชิงนิเวศน์ : กรณีศึกษาท่าศาลา” เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาความสมดุลและความเป็นธรรมของการพัฒนา ระหว่างมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

สัมมนาวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง “ความยุติธรรมเชิงนิเวศน์ : กรณีศึกษาท่าศาลา”
จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองและศูนย์ศึกษานโยบายเพื่อการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิชีววิถีและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) , มีนาคม 2556 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ภาพโดย วิทิต จันทามฤต

ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัย ผู้ศึกษาหัวข้อ “ชุมชนท่าศาลากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” กล่าวว่า การศึกษาได้ยึดกรอบความคิดในมิติความยั่งยืน 3 ด้าน ได้แก่ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พบว่าที่อ่าวท่าศาลามีครบทั้ง 3 ด้าน ซึ่งแทบจะมองหาจากชุมชนอื่นได้ยาก ถือเป็นอัตลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบ และยังได้ศึกษาลึกลงไปว่าจะมีสาเหตุอะไร ที่ทำให้อัตลักษณ์เหล่านี้เสียสมดุลไปบ้าง 

ผลการศึกษาพบว่า 1. พื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนชาวมุสลิม มีแบบแผนในการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม เน้นการใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าและอนุรักษ์ เพราะถือเป็นเรื่องที่พระเจ้าประทานมาให้ และต้องรักษาเอาไว้ให้เผื่อไปถึงลูกหลาน ชาวบ้านในชุมชนจึงยึดมั่นในวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างแนบแน่น 2. ชาวท่าศาลามีลักษณะเฉพาะของทำเลถิ่นที่อาศัยอยู่และการตั้งบ้านเรือนใกล้ชายฝั่งอ่าวไทย มีความสัมพันธ์กันดุจเครือญาติ มีน้ำจากเทือกเขาหลวงผ่านไร่นาออกสู่ทะเล สร้างความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “เขา-ป่า-นา-เล” อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัย ทำให้เกิดความต้องการพึ่งพากันและกัน เช่น ผู้มีอาชีพทำประมงชายฝั่ง ก็พึ่งพาคนที่อยู่บนภูเขา คนบนภูเขาก็พึ่งพาคนทำประมง เป็นต้น
3. ลักษณะอาชีพประมงชายฝั่ง ต่างพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติเดียวกัน กลายเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีปัญหาก็จะใช้ภูมิปัญหานี้หาทางออกกันภายในชุมชน และภูมิปัญญาดั้งเดิมทำให้เกิดการจ้างงาน ประกอบอาชีพในชุมชน เช่น เวลาออกเรือก็จะไม่ออกเรือไปลำเดียวโดดเดี่ยวในทะเล หรือเวลาเข้าฝั่งก็จะเข้าทีละลำ ลูกเรืออื่นๆก็จะต้องมาช่วยกัน หรือเจ้าของแพปลา จะให้ลูกเรือกู้เงินไปซื้อเรือได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องนำสัตว์น้ำที่จับได้มาขายให้ เป็นลักษณะเหมือนหุ้นส่วนกันหรือเหมือนกับเครือญาติ ไม่ขูดรีดกัน

หากอำนาจทุนจากภายนอกมาแสวงหาประโยชน์ในชุมชน อัตลักษณ์ทั้ง 3 ส่วนนี้อาจหายไป ผู้คนที่นี่จะไม่รู้สึกว่าต้องอยู่กับแบบเครือญาติอีกแล้ว ความรู้สึกในการอนุรักษ์ รักษาไว้ซึ่งเศรษฐกิจแบบพึ่งพากันในชุมชนก็จะหายไปด้วย ทำให้แรงงานจากข้างนอกเข้ามาในชุมชน ขณะที่แรงงานภายในก็จะต้องออกไปทำมาหากินข้างนอก เพราะการประกอบอาชีพดั้งเดิมในท้องถิ่นหายไป การพึ่งพากันแบบเครือญาติก็จะหมดไป และถามว่าคนต่างถิ่นที่เข้ามาจะยึดหลักศาสนาอิสลามหรือไม่” ดร.เขมรัฐกล่าว

ในการศึกษาของดร.เขมรัฐ ได้มุ่งเน้นการประเมินตามกรอบความยั่งยืนของชุมชนภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ซึ่งพูดถึงนิยามของ “ความยั่งยืน” ในแต่ละมิติ มาเป็นเครื่องมือในการชี้วัดความยั่งยืนของชุมชนท่าศาลา ซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏว่าวิถีชุมชนของพื้นที่แห่งนี้มีความสมดุลและความยั่งยืนสูงมาก จึงไม่แปลกใจที่ชาวชุมชนจะจับมือกันรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เอาไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน

นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาบทบาทและความสำคัญของ “การประมงพื้นบ้านต่อเศรษฐกิจไทย” โดย ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน กล่าวว่า อาชีพประมงพื้นบ้านของชาวนครศรีธรรมราช มีมูลค่าโดยรวมแล้วกว่า 500 ล้านบาทต่อปี รวมกับอาชีพต่อเนื่อง เช่น ผู้ขายวัตถุดิบในการต่อเรือ ผู้จำหน่ายน้ำมันและสินค้าต่างๆ มีมูลค่า 280 ล้านบาท และธุรกิจปลายน้ำที่นำผลผลิตจากประมงพื้นบ้านไปใช้ เช่น ผู้ผลิตอาหารกระป๋อง ร้านอาหารและบริการต่างๆมีมูลค่า 1,360 ล้านบาท ส่งผลทำให้โดยรวมแล้วหากโครงการขนาดใหญ่ด้านปิโตรเลียมที่เข้ามา อาจสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ประมงพื้นบ้าน ชาวบ้าน และอาชีพต่อเนื่อง สูงถึงประมาณ 2,140 ล้านบาท

“เศรษฐกิจในพื้นที่ท่าศาลาถือว่ามีมูลค่าเพิ่มมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและรายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับชาวบ้านจำนวนมาก ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ดร.สิทธิเดชกล่าว

ขณะที่ข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ จากรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) ของชาวบ้าน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม พบว่าความมั่งคั่งของสัตว์ทะเลในบริเวณอ่าวท่าศาลา ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 5,000 คน/วัน รายได้ต่อหัวอย่างน้อย 300 บาท มีเงินหมุนเวียนสำหรับค่าแรง 1.5 ล้านบาท/วัน คิดเป็นปีละ 300ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังพบว่ามีเรือประมงชายฝั่งเข้ามาหากินที่ชายหาดสิชล-ท่าศาลาราว 1,300 ลำ ทั้งจากในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง มีรายได้เฉลี่ย 391ล้านบาท/ปี หากสินค้าทะเลเดินทางไปสู่เส้นทางอาหารในขั้นถัดไปก็จะเพิ่มมูลค่าขึ้นอีกหลายเท่าพร้อมเพิ่มการจ้างงาน เช่น นำกุ้งขาวจากท่าศาลาไปส่งโรงงานใน จ.สุราษฎร์ธานี ก็จะนำไปแปรรูปเกิดการจ้างงานอีกกว่า 400 คน

นอกจาก “สัตว์น้ำ” ที่เป็นต้นทางสายพานเศรษฐกิจสัตว์น้ำสร้างทั้งมูลค่าและการจ้างงานของคนมากกว่า 10,000 คนตลอดสายพาน ทำให้เกิดกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีประมงและชุมชนมุสลิมนั่นคือ “ธุรกิจร้านน้ำชาเคลื่อนที่” ที่รองรับเรือประมงหลายร้อยลำที่จะเข้าฝั่งมาพร้อมกับปลาทูและสัตว์ทะเล ทำให้บริเวณชายฝั่งจะคลาคล่ำไปด้วยแม่ค้าในหมู่บ้านและที่มาจากต่างจังหวัดและกลายเป็นตลาดนัดปลาทู ปัจจุบันมีเรือประมงจากจังหวัดปัตตานีเข้ามาหากินในชุมชนบ้านในถุ้ง กว่า 30 ลำ แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของประมงแถบนี้และเป็นแหล่งปลาทูที่สำคัญ

นายภานุเบศร์ มหาเรือนขวัญ นักวิจัยจากมูลนิธิชีววิถี ได้ศึกษาหัวข้อ “ขบวนการทางสังคมใหม่ : การต่อสู้เพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหาร ในอ่าวทองคำ อ.ท่าศาลา จ.ศรีธรรมราช” เนื่องจากมองว่า ประเทศไทยกำลังเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตความมั่นคงทางอาหารจากการสูญเสียพื้นที่ผลิตอาหารอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีบรรษัทข้ามชาติ (Transnational Corporations: TNCs) เป็นกลจักรสำคัญในการกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลโดยทิ้งผลกระทบทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมไว้ข้างหลัง

การเลือกประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนไม่เพียงเพราะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์เท่านั้น ทว่ายังเป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติสำคัญทั้งทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงบนบกด้วย

กรณีอ่าวทองคำ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่เป็นรูปธรรมของความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดยักษ์กับการธำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแหล่งอาหาร เกิดการต่อต้านจากประชาชนภายในพื้นที่ ที่เชื่อมร้อยตนเองเข้ากับประเด็นสากลด้านสิ่งแวดล้อมและอาหารโดยการนิยามอัตลักษณ์ (identity) ตนเองใหม่ว่าเป็น ‘พื้นที่ผลิตอาหาร’ สำหรับพลเมืองไทยและพลเมืองโลก โดยใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ทำการสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและชายฝั่งบริเวณนั้นที่มี ‘ระบบนิเวศเฉพาะ’ ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างเขา ป่า นา เล ว่าไม่ได้เป็นทะเลร้างตามที่ บริษัท เชฟรอนกล่าวอ้างไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) แต่อย่างใด

ถึงแม้ว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 บริษัท เชฟรอน ได้ประกาศยอม “ยุติ” การสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยไปแล้ว และได้ส่งหนังสือยืนยันไปยังเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) หากในส่วนของรายงาน EHIA บริษัทเชฟรอนยังคงมีเงื่อนไขในการขอส่งรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ไปยังสผ. เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาต่อ ทำให้ชาวบ้าน ชุมชน เครือข่ายประชาสังคม รวมไปถึงนักวิชาการจำนวนไม่น้อย ยังคงไม่มั่นใจว่าบริษัทเชฟรอนจะหยุดพักเพื่อลดแรงต่อต้าน หรือเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปหรือไม่?