สช และ มอ ผนึกกำลัง พัฒนากำลังคนด้านเอชไอเอ

สช และ มอ ผนึกกำลัง พัฒนากำลังคนด้านเอชไอเอ
จากความต้องการในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

ประเทศไทยได้มีการนำเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือเอชไอเอ มาเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะสร้างองค์ความรู้ และกระบวนการในการเรียนรู้ผลกระทบที่เกิดต่อสุขภาพจากนโยบาย หรือโครงการพัฒนาต่างๆ หากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาพบว่า กำลังคนและองค์ความรู้ด้านเอชไอเอ ยังไม่เพียงพอและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมไทย ในด้านองค์ความรู้ กระบวนการ และบุคลากรในด้าน เอชไอเอ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยด้านเอชไอเอ โดยได้มีการลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในงานนี้ได้รับเกียรติจากนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามในความร่วมมือฉบับดังกล่าว

ในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้ง 2 หน่วยงานจะได้ร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาการจัดการระบบสุขภาพ วิชาเอกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ รวมถึงงานวิจัย และบริการวิชาการด้านเอชไอเอให้กับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาเรื่อง “บทบาทมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ” โดยผู้แทนจากมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ซึ่งผู้เข้าร่วมได้สะท้อนภาพ และอนาคตของเอชไอเอในสังคมไทยที่จะก้าวข้ามระดับโครงการสู่การขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง สิ่งสำคัญคือการมีบุคลากรด้านเอชไอเอที่สามารถทำงานถึงระดับฐานรากได้อย่างแท้จริง

ดาวน์โหลด
ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์