“อะโบ๊ยหมะเลจะนะหรอยจ้าน”ของดีดีที่จะนะ ชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

“อะโบ๊ยหมะเลจะนะหรอยจ้าน”ของดีดีที่จะนะ

เรื่องโดย วรรณิศา จันทร์หอม
ภาพโดย วรรณิศา จันทร์หอมศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

โชว์ศักยภาพทะเลจะนะแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของคนสงขลาและร่วมลงนามปฏิญญา “การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารทะเลจะนะ เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารของภูมิภาคอาเซียน”ในงาน“อะโบ๊ยหมะเลจะนะหรอยจ้าน”ชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

สืบเนื่องจากการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสุขภาพระดับชุมชนของเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ ในพื้นที่ 8 หมู่บ้าน 3 ตำบลได้แก่ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และต.สะกอมพบว่าทะเลจะนะยังคงความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้มีพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลายทั้งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจรวม 144 ชนิด และที่มีผลต่อระบบนิเวศน์ คือโลมา เต่าและสัตว์อื่นๆกว่า 38 ชนิด ซึ่งในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้กว่า 300 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถส่งอาหารทะเลหล่อเลี้ยงคนสงขลาได้ทั้งจังหวัด มีการส่งไปขายยังจังหวัดต่างๆเช่นปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล ภูเก็ต ลพบุรี และกทม.และยังมีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เช่นจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงค์ปร์ และมาเลเซีย จึงนับได้ว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ “ของคนสงขลาและอาเซียน”

งาน “อะโบ๊ยหมะเลจะนะหรอยจ้าน” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงศักยภาพของจะนะในวันนี้ ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์สัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ และประกาศถึงความพร้อมที่อำเภอจะนะ จะเป็นพื้นที่แหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งในและต่างประเทศต่อไป โดยมีนายพิรสิญจน์ พันธุ์เพ็งรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงานโดยมีพิธีการปล่อยเต่าและมีตัวแทนภาครัฐเข้าร่วมงานพร้อมร่วมลงนามปฏิญญา “การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารทะเลจะนะ เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารของภูมิภาคอาเซียน”

ซึ่งได้ระบุใจความสำคัญไว้ ดังนี้

1.ภาคีเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ จะประสานความร่วมมือในการสร้างคุณค่าทะเลจะนะสู่สาธารณะ
2.ภาคีเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ จะประสานความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลบริเวณชายฝั่ง อ.จะนะเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารของภูมิภาคอาเซียนโดยการสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเครือข่าย
3.ภาคีเครือข่ายจะนะ ร่วมผลักดันนโยบายระดับพื้นที่ เช่นข้อบัญญัติท้องถิ่น และการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามพ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ.2535
4.การรักษาทะเลจะนะ ถือเป็นภารกิจร่วมกันของจังหวัดสงขลาศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สงขลา) ประมงอำเภอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน

โดยสมาชิกภาคีเครือข่ายฯ ได้แก่ เครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สงขลา) ประมงอำเภอ เทศบาลตำบลนาทับ องค์การบริหารส่วนตำบลสะกอมองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน โรงพยาบาลจะนะ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สมาคมรักษ์ทะเลไทย ศิลปินกลุ่ม South Free Art กลุ่มเด็กคิด กลุ่มมานีมานะ กลุ่มมะนาวหวานและศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน

ภายในงานยังมี กิจกรรมเด็ก เช่นทำผ้าบาติกงานศิลปะเพื่อทะเล นิทานทะเล และงานศิลปะจากขยะ นิทรรศการภาพถ่ายของกลุ่มsocial whiteและกลุ่มไม้ไหว นิทรรศการภาพวาดของศิลปินกลุ่ม South Free Artการแสดงละครสะท้อนเรื่องราวความมั่นคงทางอาหารโดยกลุ่มมะนาวหวานอีกทั้งมีการเสวนาเวทีสาธารณะ “ทะเลคือชีวิต” แหล่งผลิตอาหารของทุกคนดำเนินรายการโดยคุณณาตยา แวววีรคุปต์ช่องไทยพีบีเอสและท้ายสุดมีการแสดงดนตรีของวงกอและแฟมมี่ลี่

นายดนรอนี ระหมันยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ “เราไม่ต้องการให้ใครมายุ่งมาทำอะไรในทะเลของเราเพราะว่าทะเลจะนะสมบูรณ์มาก เราเคยประสบปัญหาทะเลไม่สมบูรณ์มาแล้ว ทำให้เราต้องออกไปหากินที่อื่น ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นอีกแล้วเพราะเป็นวิถีชีวิตที่ลำบากมาก เราจึงกลับมาฟื้นฟูทะเลจนสมบูรณ์เต็มที่ วันนี้จึงมีการประกาศ เพื่อต้องการให้หน่วยงานรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับรู้และร่วมกันทำปฏิญญาขึ้นมาเพื่อที่จะให้หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาลงนามปฏิญารักษาทะเลร่วมกัน ในทะเลตอนนี้มีความสมบูรณ์เต็มที่มีชายหาดมีส่วนประกอบหลายอย่าง หากมีอะไรมาทำให้ทะเลแห่งนี้สูญเสียไปเราจะเอาทะเลที่ไหนมาทำแหล่งผลิตอาหารให้กับคนสงขลาและคนในประเทศรวมทั้งสินค้าที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศเราอยากประกาศให้เห็นศักยภาพของทะเลจะนะเพราะมีอยู่จริง”

ด้านนายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน “การร่วมลงนามปฎิญญาการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารทะเลจะนะถือเป็นปฏิบัติการที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อชุมชนและสังคม เพราะตลอดระยะเวลา การกำหนดนโยบายมักจะถูกรัฐบาลและหน่วยงานราชการกำหนดลงมาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ชอบใจและก่อให้เกิดความขัดแย้งเช่นกันในหลายพื้นที่ และการที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาที่เป็นผู้นำและให้คุณค่าและเห็นความสำคัญ ในการที่ภาคประชาชน ภาคท้องถิ่น ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนาและนักวิชาการ ร่วมมือร่วมใจกันกำหนดนโยบายทิศทางการพัฒนาในการปกป้องแหล่งผลิตอาหาร บนพื้นฐานที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาใช้มาทำข้อมูลของชาวประมงทั้ง 8 หมู่บ้าน เป็นกรณีที่ทางรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายในพื้นที่ควรจะหยิบยกและหนุนเสริมให้ส่งผลต่อในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง เพราะรูปแบบที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความภูมิใจความเข้มแข็งของชุมชนยังก่อให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือกันของเครือข่ายต่างๆอันเป็นฐานรากของสังคมไทย และที่สำคัญหากภาครัฐตระหนักและสนับสนุนก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่นำไปสู่ความสุข และความภูมิใจ และความร่มเย็นของสังคมไทย”

รับชมรายการเวทีสาธารณะ “จะนะทะเลคือชีวิต” ย้อนหลังได้ที่
http://clip.thaipbs.or.th/home.php?vid=5850&ap=flase