โลกใต้น้ำที่ทะเลหัวไทร (2) บริเวณอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร ชายฝั่งทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราช

โลกใต้น้ำที่ทะเลหัวไทร

ข้อมูลโดย : สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร
เรียบเรียง : ศรเดช คำแก้ว ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
ภาพโดย :: สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร
ศรเดช คำแก้ว และประสิทธิ์ชัย หนูนวล

 3
ดิน – น้ำ –ลม –ไฟ ในดอนแอ่งกระทะ

กระแสน้ำไหล ‘แวะ’เวียนที่ดอนแอ่งกระทะ

การไหลของน้ำเป็นลักษณะพิเศษที่สำคัญอีกประการหนึ่งของดอนแอ่งกระทะ เพราะการไหลวนของน้ำมีความสำคัญต่อการนำสารอินทรีย์จากแหล่งอื่นเช่นลำคลอง เข้ามาสะสมอยู่ในดอนแอ่งกระทะ จากการสังเกตช่วงหลายสิบปีของชุมชนประมงที่นี่พบว่าการไหลเวียนของน้ำบริเวณแอ่งกระทะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพื้นที่ใกล้เคียง

ธรรมชาติทิศทางการไหลของน้ำในทะเลที่ไหลจากทิศใต้ขึ้นสู่ทิศเหนือ แต่พอถึงบริเวณแอ่งกระทะการไหลของน้ำจะไหลวนอยู่ในวงแอ่งกระทะ โดยชาวประมงสังเกตจากสีของน้ำช่วงน้ำหลาก น้ำที่ไหลลงมาจากคลองแพรกเมืองจะไหลมารวมกันอยู่ ณ แอ่งนี้ ทั้งที่คลองอยู่ห่างจากแอ่ง 7 กิโลเมตรนั่นเป็นเพราะความลึกของบริเวณแอ่งกระทะซึ่งลึกกว่าบริเวณอื่นทำให้เกิดการไหลของน้ำซึ่งนั่นหมายถึงว่าสารอินทรีย์ที่ไหลลงมาจากลำคลองจะถูกพัดพานำมาสะสมในบริเวณนี้

นอกจากนี้สีของน้ำในบริเวณแอ่งกระทะจะแตกต่างจากสีของน้ำในบริเวณอื่นๆ ซึ่งปกติน้ำทะเลจะมีลักษณะสีคราม จากการสังเกตของชุมชนประมงชายฝั่งที่นี่พบว่าสีของน้ำบริเวณแอ่งกระทะจะมีลักษณะสีของน้ำคล้ายกับน้ำมะพร้าว สีค่อนข้างขุ่นขาว ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นในบริเวณแอ่งกระทะเท่านั้น สีของน้ำดังกล่าวแม้ว่าไม่มีผลพิสูจน์หรือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่สังเกตเห็นของชุมชนพบความแตกต่างกับพื้นที่อื่นๆซึ่งการสังเกตดังกล่าวเป็นนานนับสิบปี จึงเป็นข้อสรุปที่น่าสนใจว่าสีของน้ำคือความจำเพาะของระบบนิเวศที่บ่งชี้ความสมบูรณ์ของดอนแอ่งกระทะที่นี่

จากลักษณะการไหลวนของน้ำในดอนแอ่งกระทะ ส่งผลให้บริเวณนี้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของความอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเลแถบนี้ ด้วยกระแสน้ำที่พัดพาเอาแร่ธาตุ และสารอาหารต่างๆ ที่ไหลลงมาจากลำคลองมาทับถมอยู่ในแอ่งกระทะนี้ทำให้ระบบนิเวศบริเวณนี้สมบูรณ์ ชาวประมงมีรายได้ตลอดทั้งปี และหล่อเลี้ยงชีวิตคนคอนมาหลายชั่วอายุคน จนพื้นที่แห่งนี้ได้รับขนานนามว่า “อ่าวหน้าทอง”

กุ้งแชร์บ๊วย หรือ กุ้งแม่หวัด ราคากิโลกรัมล่ะ 390 บาท ในภาพ วันนั้นเยอะมากต้องเอามาปลดฝั่ง (ซ้าย)

ปลาอีคุด จับได้ประมาณ 30 กิโลกรัม  ขายให้แม่ค้ากิโลกรัมละ 120 บาท (ขวา)

ปลาโฉมงาม ตัวละกิโลกรัม 7 – 10 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 80 บาท จับโดยบังหมัด เรือหนองมนต์ (ซ้าย)

ภาพความร่วมมือกันเอาเรือขึ้นฝั่งชองชาวบ้านโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือในทุกๆ วัน จะมีการช่วยเหลือกับแบบนี้ตลอด (ขวา)

ปลาเหลียบ และ กุ้งแชร์บ๊วย วันนี้ได้กุ้ง 25 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 390 บาท (ซ้าย)

ปลากระเบน จับได้จำนวน 11 ตัว 140 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 40 บาท (ขวา)

วงล้อแห่งดิน3 แบบที่ดอนแอ่งกระทะ

การไหลเวียนของน้ำที่พัดพาเอาแร่ธาตุ และสารอาหารต่างๆ มาจากคลองแพรกเมืองและคลองหน้าโกฏิไหลมารวมกันในแอ่งกระทะ ส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางระบบนิเวศ โดยเฉพาะดิน มีทั้ง ดินทราย ดินทรายปนเลน และดินขี้เป็ด ซึ่งดินแต่ละชนิดก็มีความจำเพาะที่ต่างกันดังนี้จากแผนที่ดอนแอ่งกระทะจะพบว่าลักษณะดินในบริเวณแอ่งกระทะมีความแตกต่างกันเมื่อไล่เรียงตามความลึกของแอ่งกระทะ จากภาพจะพบว่าลักษณะของดินมีความสัมพันธ์กับความลึกของแอ่งกระทะซึ่งจากกระบวนการศึกษาพบลักษณะที่สำคัญดังนี้

1. ดินทราย ร้อยละ 25 จะอยู่บริเวณขอบแอ่งกระทะ(ชั้นนอกสุด) สัตว์น้ำที่พบมาจะเป็นจำพวกปลาทราย ปลาฝูงที่ไม่ประจำที่ และปลาหน้าน้ำ
2. ดินทรายปนเลน ร้อยละ 15 จะอยู่ถัดลงมาจากดินทราย(ชั้นกลาง) มีสัตว์หลากหลายโดยเฉพาะกุ้ง และปลากระเบน
3. ดินเลนขี้เป็ดเหลว เกิดจากการทับถมจากซากพืชและสัตว์ร้อยละ 60 (ชั้นใน)จะอยู่บริเวณก้นกระทะซึ่งเป็นบริเวณที่มีสัตว์น้ำชุกชุมมากทั้งปลา ปู กุ้ง หอย

ดินทั้งสามชนิดมีความสำคัญของระบบนิเวศแอ่งกระทะ ดินทั้งสามชนิดจะทำหน้าที่แตกต่างกันบ้าง เช่น ดินเลนปนทรายและดินเลนขี้เป็ดจะทำหน้าที่เป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำ ในช่วงเกิดพายุสัตว์น้ำส่วนใหญ่จะหนีเข้ามาอยู่ที่ส่วนในสุดของดอนแอ่งกระทะ รวมทั้งช่วงน้ำหลากจะมีน้ำจืดปนมาในน้ำเค็มทำให้สัตว์น้ำขอบนอกบริเวณดินทรายหนีเข้ามาอยู่ที่ส่วนในสุดของดอนแอ่งกระทะ ธรรมชาติสรรสร้างให้มีดินสามแบบเพื่อเกื้อกูลให้สัตว์น้ำอาศัย มีชีวิตและเจริญเติบโตได้แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในท้องทะเลก็ตาม

สิ่งสำคัญที่เป็นข้อสังเกตคือชาวประมงพบพืชชนิดหนึ่งคล้ายสาหร่าย มีลักษณะเป็นเส้นยาวเป็นปล้องคล้ายกับสาหร่ายขนาดเล็กและมีรูกลวงด้านในมีสิ่งมีชีวิตคล้ายกับไส้เดือนอาศัยอยู่ ชาวประมงเชื่อว่ามันเป็นอาหารของสัตว์น้ำในบริเวณนี้ซึ่งเมื่อทอดสมอเรือก็จะพบสาหร่ายชนิดนี้ติดมากับดินที่สมอเรือเสมอ ซึ่งพบมากในบริเวณแอ่งกระทะ สิ่งที่น่าสนใจก็คือสาหร่ายชนิดนี้น่าจะเป็นพืชที่สำคัญในระบบนิเวศแอ่งกระทะ ทั้งนี้พืชชนิดนี้ยังไม่พบในบริเวณอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของดอนแอ่งกระทะสาหร่ายชนิดนี้จึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ

กระแสลม7 ทิศอ่าวหน้าทอง

ด้วยลักษณะพื้นที่บริเวณอ่าวหน้าทองมีลักษณะเป็นทะเลเปิด สามารถมองออกไปได้ไกลโดยไม่มีสิ่งกีดขวางทัศนียภาพใดๆ และหากมีคลื่น ลมมรสุมก็มักจะปะทะโดยตรง แต่ชาวประมงทราบดีว่าช่วงไหนออกทะเลได้หรือไม่ได้ด้วยการสังเกตลักษณะและทิศทางของลม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของลักษณะลม 7 ทิศ ประกอบด้วย

1. ลมที่พัดมาจากทิศเหนือ : ลมพัดหลวง พบเจอระหว่างเดือน สิงหาคม – ตุลาคม สัตว์น้ำที่พบเจอและจับได้มากที่สุดช่วงนี้คือ ปู และสัตว์หน้าดินทุกชนิด
2. ลมที่พัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ : ลมว่าว พบเจอระหว่างเดือน ตุลาคม – ธันวาคม สัตว์น้ำที่พบเจอและจับได้มากที่สุดช่วงนี้คือ กุ้งทุกชนิด
3. ลมที่พัดมาจากทิศตะวันออก : ลมนอก ไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สัตว์น้ำที่พบเจอและจับได้มากที่สุดช่วงนี้คือ หมึก กุ้ง ปลาทู และปลาหลังเขียว
4. ลมที่พัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ : ลมเพลา พบเจอระหว่างเดือน มกราคม – มีนาคม (เป็นช่วงที่คลื่นลมแรงมาก)หากลมแรงแต่ไม่ค่อยมีคลื่นก็สามารถออกเรือได้ (ต้องเสี่ยง)สัตว์น้ำที่พบเจอและจับได้มากที่สุดช่วงนี้คือ ปลาจาระเม็ด และปลาแดง
5. ลมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ : ลมสลาตัน พบเจอระหว่างเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม สัตว์น้ำที่พบเจอและจับได้มากที่สุดช่วงนี้คือ กุ้งแสม
6. ลมที่พัดมาจากทิศตะวันตก : ลมพลัด พบเจอระหว่างเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม ไม่ค่อยพบบ่อยหากมาแต่ละครั้งจะกินเวลานาน สัตว์น้ำที่พบเจอและจับได้มากที่สุดช่วงนี้คือ ปลาหลังเขียว และปลาทู
7. ลมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ : ลมเขาใหญ่ พบเจอระหว่างเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม สัตว์น้ำที่พบเจอและจับได้มากที่สุดช่วงนี้คือ ปลาหน้าน้ำ

ด้วยภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นต่อรุ่นทำให้ชาวประมงที่อ่าวหน้าทองสามารถหากินได้ตลอดทั้งปี และเป็นพื้นที่ที่คงความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหารสามารถเลี้ยงคนทั้งประเทศและต่างประเทศได้โดยไม่ขาดตกบกพร่องมาหลายชั่วอายุคน

4
เศรษฐกิจสีฟ้าที่อ่าวหน้าทอง

จากความสมบูรณ์ทางทะเลของอำเภอหัวไทรพบว่าดอนแอ่งกระทะเป็นระบบนิเวศเฉพาะที่สำคัญของทะเลแถบนี้เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่เกื้อหนุนให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ทั้งลักษณะแอ่ง ลักษณะดินและการไหลวนของน้ำ ทั้งหมดนี้ได้รับการพิสูจน์มาหลายชั่วอายุคนว่า พื้นที่ความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร มีความสำคัญต่อการเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับสาธารณะและการประกอบอาชีพประมงของคนในหลายพื้นที่ ตัวชี้วัดที่สำคัญของความสมบูรณ์ระบบนิเวศของดอนแอ่งกระทะประการสำคัญที่สัมผัสได้ด้วยตาคือ “ตัวเลขที่เกิดจากการจับสัตว์น้ำ” ซึ่งมีหลายประเด็นเช่น เส้นทางอาหาร การจ้างงาน รายได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์ที่สำคัญของคำอธิบายความสมบูรณ์ของแอ่งดอนกระทะ

เส้นทางสัตว์น้ำจากชายฝั่งทะเลหัวไทร สัตว์น้ำที่ทะเลหน้าทองไม่เพียงหล่อเลี้ยงคนที่อำเภอหัวไทรเท่านั้นแต่ยังส่งไปขายคนทั้งจังหวัด รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นการยืนยันความสมบูรณ์ของอ่าวหน้าทอง ซึ่งถูกพิสูจน์มาแล้วหลายสิบปีและในปัจจุบันยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ 

รายได้ของประมงพื้นบ้านจากอ่าวหน้าทอง
การจับสัตว์น้ำของชาวประมงในชุมชนชายฝั่งหัวไทร อย่างน้อยจะอยู่ที่วันละ 1,000-2,000 บาท อย่างไรก็ตามรายได้ขั้นสูงของชุมชนที่ได้รับจากการจับสัตว์น้ำมีความน่าสนใจดังนี้

รายได้ตั้งแต่ 5,000 บาท ขึ้นไปในการออกเรือแต่ละครั้งเฉลี่ยต่อคนใน 1 ปี
 รายได้ตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป 7 วัน โดยประมาณ
 รายได้ตั้งแต่ 8,000 – 9,999 บาท ขึ้นไป 1 เดือน โดยประมาณ
 รายได้ตั้งแต่ 5,000 – 7,999 บาท ขึ้นไป 4 – 5เดือน โดยประมาณ
หมายเหตุ: การจับสัตว์น้ำต้องใช้เครื่องมือในการจับที่แตกต่างกัน จะเห็นได้ว่าชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวหน้าทองมีเครื่องในการจับที่หลากหลายจึงส่งผลให้สามารถจับสัตว์น้ำได้ทุกฤดูการทั้ง ปลา ปู กุ้ง และหมึก

จำนวนเรือและการจ้างงาน

  •  จำนวนเรือประมงทั้งหมด 470 ลำ(ทั้งอำเภอหัวไทร)
  •  เรือแต่ละลำจะมีลูกน้องเรือ 1 – 2 คน (รวมเจ้าของเรือ)

– กรณีจ้างลูกน้อง 1 คน ค่าแรงจะคิดเป็นร้อยละ 30 บาท
– กรณีจ้างลูกน้อง 2 คน ค่าแรงจะคิดเป็นร้อยละ 15 บาท

  •  จำนวนเรือต่างถิ่นที่มาหากินในอ่าวหน้าทองทั้งที่มาจากทิศใต้และทิศเหนือประกอบด้วย

หากคำนวณโดยประมาณจะพบว่าเฉพาะเรือประมงพื้นบ้านอำเภอหัวไทรเกิดการจ้างงานทั้งเจ้าของเรือและลูกน้องจำนวน 1,400 คน ซึ่งยังไม่นับรวมห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจอีกมากมายที่จะเกิดการจ้างงานแบบต่อเนื่องจากการจับสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังพบว่ามีเรือจากนอกพื้นที่เข้ามาทำการประมงในพื้นที่อ่าวหน้าทองด้วย

– เรือประมงที่มาจากทางทิศใต้มาจาก บ.หน้าศาล บ.แพรกเมือง บ.เกาะยาวต.หน้าสน อ.หัวไทรจ.นครศรีธรรมราช และจากบ.บ่อตรุ อ.ระโนด บ.บ่ออูด อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยจำนวนเรือที่มาในแต่ละครั้ง 40 – 50 ลำ
– เรือประมงที่มาจากทางทิศเหนือมาจากบ.หัวป่า บ.หน้าโกฏิ ต.ขนาบนาก อ.ปากพนังต.ปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เรือจาก อ.ขนอม อ.ดอนสัก จ.สุราษฏร์ธานี เรือจาก จ.ชุมพร และเรือจาก ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร จำนวนเรื่อที่มาในแต่ละครั้ง 40 – 50 ลำ