มช.-สช. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

มช.-สช. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 56 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ณ ห้องประชุมบุญสม มาร์ตินอาคารบุญสม มาร์ติน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และรศ.นพ.วัฒนา นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้สนใจจากหลายภาคส่วน

                นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การที่ทางสช. และ มช. ได้ร่วมมือกันในด้านของการเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านระบาดวิทยาภาคประชาชนในฐานะเครื่องมือในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจะเป็นตัวส่งเสริมให้ประชาชนได้มีความเข้าใจ ใช้วิเคราะห์ชุมชนตนเองได้ เป็นการสร้างสังคมเราให้มีปัญญามากยิ่งขึ้นและกล่าวต่อว่าสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีภารกิจขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ มุ่งสร้างกระบวนการใหม่สำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่เน้นการมีส่วนร่วมและเน้นการทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน โดยการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือเอชไอเอเป็นเครื่องมือและกระบวนการที่มีคุณค่าใน 4 มิติ คือ 1.เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ 2.เป็นการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม 3.เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม ผ่านการปฏิบัติและพัฒนาไปพร้อมกัน 4.เป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนและสังคม ซึ่งกระบวนการทั้ง 4 มิตินี้ จะต้องมีการส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยสช.จะพัฒนากระบวนการนี้ทั้งแนวความคิด กลไก เทคนิค วิชาการ องค์ความรู้ บุคลากร เพื่อการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมให้เพิ่มมากขึ้น

นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีศักยภาพพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการประเมินผลกระด้านสุขภาพ หรือ เอชไอเอ โดยเฉพาะการพัฒนาเครื่องมือระบาดวิทยาภาคประชาชนเข้ามาร่วมในการทำเอชไอเอเพื่อใช้ติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดจากโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ และควรเร่งให้มีการเผยแพร่เครื่องมือดังกล่าวออกไปในวงกว้างเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม

ด้าน รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน กล่าวว่าการทำเอชไอเอที่ผ่านมายังพบว่ามีปัญหาอยู่หลายส่วนเช่น การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ การติดตามตรวจสอบโครงการหรือนโยบายสาธารณะหลังการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไปแล้ว และการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการติดตามตรวจสอบโครงการหรือกิจกรรมที่เข้ามาในชุมชนของตนเอง และปัจจุบันได้พัฒนาเครื่องมือระบาดวิทยาภาคประชาชนให้ชุมชนสามารถติดตามตรวจสอบกิจกรรมโครงการหรือนโยบายสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทดลองใช้เครื่องมือนี้ในหลายชุมชนจนได้รับผลที่น่าพอใจ

                ในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” เพื่อพัฒนางานวิจัย และองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ส่งเสริมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในภาคส่วนต่างๆ และเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านระบาดวิทยาภาคประชาชนโดยใช้แผนที่เดินดิน ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับประชาชนและกลุ่มเป้าหมายตามความเหมาะสม