IA กรอบคิดเพื่อรองรับการเปลี่ยนของกระแสโลกและสังคม

IA กรอบคิดเพื่อรองรับการเปลี่ยนของกระแสโลกและสังคม

กว่า 3 ปีที่แล้ว (29 เมษายน 2553) ที่โรงแรมโรสการ์เด้นส์ ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA Commission จัดประชุม “ระบบเอชไอเอประเทศไทยควรเป็นอย่างไรในอีก 5 ปี ข้างหน้า” และก็ได้เป็นภาพระบบเอชไอเอที่อยากเห็นออกมา 7 ภาพ คือ 1.เป็นพันธะสัญญามากกว่าการบังคับ 2.เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม 3.ทุกคนเปิดใจ ไว้วางใจกัน เข้าถึงและเป็นเจ้าของ 4.เน้นการมีส่วนร่วมและเรียนรู้ 5.เป็นการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพ 6.เป็นภาระหน้าที่ของทุกคนไม่ใช่เพียงภาคสาธารณสุข 7.มีการทำในหลายระดับตั้งแต่ชุมชน โครงการและนโยบาย หลังจากนั้น HIA Commissionและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามทำเอชไอเอเพื่อให้ล้อกับภาพที่ทุกคนอยากเห็นและช่วยกันร่างขึ้นมา

แต่ในปัจจุบันโลกและสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากทิศทางการพัฒนาของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มากมายในเวลาอันรวดเร็ว และสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบขนาดใหญ่และรวดเร็วเช่นกัน เช่นการสร้างเขื่อนย่อมให้พื้นที่กักเก็บน้ำจำนวนมากในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้พื้นที่ป่าหายไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่สิ่งที่เติบโตไปพร้อมกันคือปรากฏการณ์คัดค้านและไม่ยอมรับการพัฒนาของชุมชนในหลายแห่งทั่วประเทศและทั่วโลก

เมื่อกลับมามองเครื่องมือและกลไกที่รองรับการพัฒนาเหล่านี้ก็มีเพียงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA : Environmental Impact Assessment ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในปี 2518 และมีการแก้ไข พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ต่อมาในปี 2550 ก็มีพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติที่ทำให้เกิดการประเมินผลกระทบสุขภาพ หรือ HIA : Health Impact Assessment และที่เกิดตามกันมาก็คือการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถรับการพัฒนาที่ก้าวกระโดดและปัญหาสุขภาพสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านของชุมชนได้ดีพอ จึงเป็นเวลาที่เราจะได้ทบทวนร่วมกันว่าระบบกลไกและเครื่องมือที่มีอยู่เดิมจะเหมาะสมเพียงพอต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ และจะสอดประสานการทำงานร่วมกันและใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

จากโจทย์ความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายนี้ HIA Commission จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาการประเมินผลกระทบท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกและสังคมไทย เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 ณ โรงแรมโรสการ์เด้นส์ และพบว่าเครื่องมือ EIA HIA SEA หรือการแยกใช้ประเภทการประเมินผลกระทบอาจจะไม่ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลง

แต่การบูรณาการเครื่องมือและใช้กรอบคิดของ “IA : Impact Assessment” หรือ “การประเมินผลกระทบ”ซึ่งเป็นแก่นคิดของทุกเครื่องมือการประเมินผลกระทบและการทำงานแบบพหุสาขา ข้ามพรมแดนความรู้ น่าจะเป็นคำตอบของโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงโดยมีทิศทางการทำงานที่เป็นแบบ 3C คือ Center-Cluster-Community คือมี Center หรือหน่วยกลางประสานเชื่อมโยงการทำงานและเชื่อมโยงภาคนโยบาย มีหน่วยงานระดับภูมิภาคเป็น Cluster ที่เชื่อมประสานความรู้มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนา โดยทำงานกับชุมชนหรือ Community ที่เป็นหน่วยปฏิบัตการหลักในพื้นที่