“เราจะรักษาทะเลท่าหลา” ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของลูกหลานเรา

เรื่องและภาพโดย ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

 ราว 1-2 ปี มานี้ชุมชนท่าศาลาเป็นที่รู้จักของสังคมว่าอ่าวท่าศาลาของพวกเขาคือ “อ่าวทองคำ” และพวกเขาคือคนที่รักษาทะเลเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารให้โลกใบนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าอะไรทำให้พวกเขาเปลี่ยนภาพลักษณ์จากกลุ่มม๊อบคัดค้าน ประท้วง ปิดถนน เพื่อบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการท่าเทียบเรือน้ำลึกของบริษัทเชฟรอนฯ ที่จะเข้ามาตั้งที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สู่การนิยามตัวเองใหม่และเขียนภาพอนาคตเช่นนี้

“ทะเลท่าศาลาเป็นทะเลร้าง” เจริญ โต๊ะอิแต กลุ่มอนุรักษ์บ้านในถุ้ง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่าข้อความจากอีเอชไอเอของบริษัทเชฟรอนฯ ข้อความนี้เป็นตัวปลุกชาวประมงในอ่าวท่าศาลาให้ลุกขึ้นทำข้อมูลเพื่อพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง และจากประสบการณ์ประท้วงและปิดถนนสอนให้รู้ว่าการชักชวนเพื่อนพ้องมาทำแบบนี้ไม่ใช่ทางออกในระยะยาว ช่วงแรกอาจจะมีคนมากันมากแต่นานไปทุกคนจะเริ่มล้าและพวกเขาเองก็ไม่มีคำตอบที่ที่แม้แต่จะตอบตัวเองว่าพวกเขาไม่ต้องการท่าเทียบเรือนี้เพราะอะไรและทำไมถึงเสียทะเลผืนนี้ไปไม่ได้

จากข้อความท่าศาลาทะเลร้างทำให้เกิดคำถามที่เป็นโจทย์ให้ชาวประมงว่า “ถ้าไม่มีสัตว์น้ำในทะเลจะกระทบอะไรกับชาวประมงในอ่าวท่าศาลา” หากนำกรอบการวิจัยมาทาบคำถามนี้ก็คือหัวข้อของการทำวิจัยเลยทีเดียว และโจทย์นี้เป็นเครื่องมือที่พา “ผู้รู้” ทางทะเลหลายด้านออกมาให้ข้อมูลในแต่ละประเด็นย่อย เช่น ดอนหรือสันทรายในทะเล เป็นจุดหาสัตว์น้ำที่สำคัญเพราะมันคือบ้านของสัตว์น้ำนับร้อยชนิด

นอกจากนี้ รายงานอีเอชไอเอฉบับนี้กำหนดขอบเขตการศึกษาในรัศมี 5 กิโลเมตร แต่ชาวประมงรู้ดีว่าจุดที่สร้างท่าเรือนั้นเป็นหัวใจของทะเลท่าศาลา เมื่อตรงนี้เสียไปจะกระทบไปทั้งห่วงโซ่เศรษฐกิจที่ไกลเกิน 5 กิโลเมตร เพราะสัตว์ทะเลเมื่อขึ้นจากเรือประมงชายฝั่งจะขายให้กับแพปลาริมทะเล บ้างส่งเข้าโรงงานแปรรูปก่อนกระจายสู่ตลาดภายนอก เป็นระบบเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องกันเมื่อกระทบก็กระทบกันเป็นลูกโซ่ ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่ามีเรือประมงจากปัตตานีและอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้ามาหากินบริเวณนี้ด้วย โดยเอาเรือใส่รถมาก่อนเอามาลงที่อ่าวนี้ มีตลาดสดริมทะเลที่จะขายน้ำชาและอาหารให้กับชาวประมง หากกิจกรรมประมงหายภาพเหล่านี้ก็หายไปด้วย

ประสิทธิชัย หนูนวล นักปฏิบัติการเอชไอเอชุมชนท่าศาลาและเป็นหนึ่งในพี่เลี้ยงด้านข้อมูลคนสำคัญ เล่าว่าที่นี่ใช้มาหลายเครื่องมือและได้เริ่มทำเอชไอเอชุมชนมาตั้งแต่ปี 2553 เขาและเพื่อนยืนยันกับชุมชนมาตลอดว่าข้อมูลจะเป็นทางออกและทางรอดและกระบวนการเอชไอเอโดยชุมชนจะเป็นตัวพาข้อมูลที่แท้จริงมาจากชุมชน พวกเขาตระเวนจัดเวทีย่อยคุยกันในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 เวที ซึ่งหากเทียบในระเบียบวิธีทางวิชาการมันก็คือ “การกำหนดขอบเขตเพื่อตั้งโจทย์การศึกษา หรือ Public Scoping” นั่นเองและในช่วงนั้นเกิดเวทีพูดคุยประจำกันทุกวันพุธ และพวกเขาก็พบว่ามีหลายโจทย์ที่ต้องร่วมกับพิสูจน์ด้วยกระบวนการชุมชนเช่น จากโจทย์ที่ว่า “พวกเขาคือพวกคัดค้านความเจริญและการพัฒนา” และเมื่อความเจริญในปัจจุบันวัดกันด้วยมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและตัวเงิน ชุมชนจึงเริ่มเก็บข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐกิจของอ่าวท่าศาลา ซึ่งกินอาณาเขตตั้งแต่ อ.ท่าศาลา-อ.สิชล

ตัวเลขชายฝั่งทะเลทำให้พบว่าพื้นที่อ่าว อ.ท่าศาลา-อ.สิชล มีดอนในทะเลที่สมบูรณ์จนชุมชนเรียกว่าดอนทองคำเพราะสามารถหาสัตว์ทะเลได้ทั้งปีโดยเฉพาะกั้งในช่วงมรสุมสามารถหาได้เต็มลำเรือโดย 1 ลำขายหน้าท่าได้ กิโลกรัมละ 750 บาท รวมแล้วกว่า 20,000 บาท และดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณปากน้ำกลาย ซึ่งก็เป็นจุดเดียวกับที่จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก ยังมีปรากฏการณ์ธรรมชาติจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ(ลมว่าว) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้(ลมพลัด) ที่เป็นต้นกำเนิดทำให้เกิดลมหมุนเวียนตลอดทั้งปีจากทะเลไปปะทะเทือกเขาหลวงในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา เรียกว่าลม 8 ทิศ ถือเป็นส่วนหนึ่งระบบนิเวศทางทะเลมีผลต่อการออกหาอาหารและเคลื่อนย้ายถิ่นของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังพบว่าที่นี่มีการจ้างงานเฉพาะกิจการสัตว์ทะเลกว่า 5,000 คน สร้างรายได้ปีละเกือบ 400 ล้านบาท

หากเทียบกับกระบวนการทางวิชาการ การจัดเวทีย่อย คุยกันในร้านน้ำชา นั่งคุยและเขียนข้อมูลกันริมทะเล ก็คือการ Focus group และ In-depth Interview เพียงแต่ว่าไม่ใช่นักวิชาการทำทั้งหมดแต่เป็นชุมชนจัดทำโดยมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยง แต่ก็ยังมีความท้าทายใหม่ตามมาคือมักถูกกล่าวหาว่า ข้อมูลของชุมชนไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อถือไม่ได้ แต่ก็อีกเช่นกันไม่เคยมีใครที่กล่าวหาข้อมูลตรงนี้เข้าไปพิสูจน์ว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นวิชาการเพราะอะไร ในทางกลับกันปรากฏการณ์ของท่าศาลาทำให้เห็นว่าคนที่นี่ได้พิสูจน์ข้อมูลที่บอกว่าเป็นวิชาการไปแล้วหลายข้อ และเมื่อข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ก็ได้ส่งไปยังหน่วยงานที่พิจารณารายงานอีเอชไอเอและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

แม้ปัจจุบันบริษัท เชฟรอนฯ ประกาศยุติโครงการแล้วเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 แต่รายงานอีเอชไอเอของโครงการนี้ก็ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอิสระพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพ หรือ คชก. แล้วเช่นกัน โดยในขณะที่เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมานี้เององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมเจ้าท่ามีมติไม่ให้ความเห็นต่อโครงการนี้ ในขณะที่ชุมชนที่นี่ก็พยายามส่งผลการศึกษาที่ได้ไปยังหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อจัดทำมาตรการปกป้องและรักษาให้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารของที่นี่ยังคงอยู่

เป็นที่น่าสังเกตและท้าทายหน่วยงานปกครองว่าเมื่อชุมชนเขียนภาพอนาคตของตนเองได้ขนาดนี้แล้วและมาจากกระบวนการนโยบายสาธารณะเช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสานต่อกันอย่างไร

 งานเขียนชิ้นนี้เกิดจากการลงเยี่ยมพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานเอชไอเอชุมชน กรณีการสร้างท่าเรือน้ำลึกและการพัฒนาอุตสาหกรรม อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่ชายทะเล ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ รองประธานอนุกรรมการรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2556 พร้อมด้วย อาจารย์ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ อนุกรรมการรางวัลสมัชชาฯ นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และทีมงาน

 

มีตัวแทนชุมชนเช่น นายเจิรญ โต๊ะอิแต กลุ่มอนุรักษ์บ้านในถุ้ง นายเชาวลิต นายเจริญโต๊ะอิแต กลุ่มอนุรักษ์บ้านในถุ้ง นายประสิทธิชัย หนูนวล นักปฏิบัติการเอชไอเอชุมชน เล่าบทเรียนและประสบการณ์การทำงานพร้อมแลกเปลี่ยนบทเรียนที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมการ

 

ความสมบูรณ์ของ “กั้ง” เป็นหนึ่งในผลจากการทำเอชไอเอชุมชนที่พบว่าที่ทะเลนี้พบกั้งจำนวนมาก และมีเศรษฐกิจต่อเนื่องจากกั้งอีกหลายทอด เช่นที่โรงกั้ง “ฟาร์มเจ้าลอย” ของบังปะสู ปัจจุบันดำเนินการโดยคุณทัศนีย์ ยีสมัน (ลูกสาวปะสู) ที่บ้านสระบัว แห่งนี้ที่รับซื้อกั้งจากประมงชายฝั่งและส่งขายกั้งเป็นทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นกิจการของคนในชุมชนที่ร่วมกับอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพราะเขารู้ดีว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับทะเลเขาก็เป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

  

ใครว่าทะเลร้าง แต่ชาวประมงว่าที่นี่มันคือ “อ่าวทองคำ”

 

บรรยากาศหน้าที่ทำการสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ซึ่งปัจจุบันยังก่อสร้างไม่เสร็จ โดยสมาคมนี้ประกอบไปด้วยประมงชายฝั่งจาก 4 หมู่บ้าน คือบ้านหน้าทับ บ้านสระบัว บ้านในถุ้ง บ้านสูงบน ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช แต่ได้เริ่มตั้งกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2546 ที่เกิดจากความคิดของคน 4 คน ที่อยู่หมู่บ้านสระบัว คือ บังหยา (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) บังโฉด บังหมาด และบังเลาะ มารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาเรือคราดหอยลายที่ทำให้หน้าดินชายฝั่งเสียหาย และตระหนักว่าหากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ลูกหลานจะไม่มีอะไรกินและจะมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก และปัจจุบันขยายจาก 4 คนเป็น 4 หมู่บ้าน กระทั่งจดทะเบียนเป็นสมาคมฯ ในสิงหาคม 2555 

เมื่อปี 2554 ได้เกิดข้อบัญญัติท้องถิ่น ต.ท่าศาลา โดยมีสาระสำคัญคือห้ามใช้อุปกรณ์การทำประมงที่ผิดกฎหมายและทำลายหน้าดิน เข้ามาทำลายหน้าดินบริเวณนี้ เพื่อเป็นมาตรการระยะยาวในการทำให้ชายฝั่งทะเลที่นี่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน