“จะนะ” ก้าวข้ามความขัดแย้งสู่การใช้ข้อมูลรักษาแผ่นดิน

“จะนะ” ก้าวข้ามความขัดแย้งสู่การใช้ข้อมูลรักษาแผ่นดิน

เรื่องและภาพโดย ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ 13 ตุลาคม 2556

แม้วันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับชาวจะนะเป็นเงิน 100,000 บาท จากคดีสลายการชุมนุมโครงการก่อสร้างท่อก๊าซจะนะ-ไทยมาเลเซีย ที่หน้าโรงแรม เจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 หรือราว 10 ปีที่แล้วแต่เหตุการณ์นี้ยังคงเป็นภาพหลอนและแผลในใจของชาวจะนะจนถึงปัจจุบัน

“จากบทเรียนกรณีท่อก๊าซเราได้มวลชนมามากแต่เมื่อรัฐบาลใช้ความรุนแรงสั่งตีชาวบ้าน มวลชนก็หายไปมากเช่นกัน” กิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชนหรือน้าแทน-พี่แทนของใครหลายคนและเป็นคนเดียวกับที่อยู่ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมกรณีนี้ และจากเหตุการณ์นั้นในวันนี้ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็มีท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย โรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 1 กำลังผลิต 700 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 กำลังผลิต 800 เมกกะวัตต์ ที่จะเปิดจ่ายไฟในปีหน้ารวมถึงการเข้ามาของโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

ความพ่ายแพ้นี้ทำให้ชาวจะนะหลายคน “ถอดใจ” แต่จากปรากฏการณ์การใช้ข้อมูลชุมชนเข้าทวงถามความเหมาะสมของโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกของบริษัทเชฟรอนฯ ของชาวท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ส่งผลให้ทุกวันนี้โครงการยังคงชะงักงัน บวกกับข้อมูลในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA กรณีท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ระบุว่า “ทะเลจะนะมีเพียงปลาหลังเขียวและปลาแป้น” ข้อความจากนักวิชาการที่ดูเหมือนจะไม่รู้จักทะเลที่นี่อย่างลึกซึ้งจะเป็นอีกหนึ่งแรงที่ปลุกชาวบ้านให้ทำข้อมูลมาเทียบกัน ความหวังของการใช้ข้อมูลเข้าสู้จึงเป็นเหมือนแสงสุดท้ายที่ทำให้น้าแทนและทีมงานได้ลองทำงานข้อมูลด้วยกระบวนการเอชไอเอชุมชน โดยเริ่มต้นที่ บ.สวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา ราวเดือนมกราคม 2555 มาจนถึงปัจจุบัน

วรรณิศา จันทร์หอม จากศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชนและนักปฏิบัติการเอชไอเอกรณีท่าเทียบเรือจะนะ เล่าว่าการทำเอชไอเอชายหาดบ้านสวนกงเริ่มต้นทำงานกับเด็กในชุมชนและผู้ใหญ่เข้ามาเติมเต็มในขอบเขต 8 หมู่บ้าน 3 ตำบล ใน อ.จะนะ และจากข้อมูลตั้งแต่มกราคม 2555-มีนาคม 2556 พบว่าที่นี่มีปลาเศรษฐกิจกว่า 94 ชนิด กุ้ง 12 ชนิด ซึ่งบางชนิดส่งขายไปยังประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน หมึก 7 ชนิด ปู 7 ชนิด หอย 20 ชนิด มีเส้นทางเศรษฐกิจที่เริ่มตั้งแต่แม่ค้าที่ชายหาด ตลาดในชุมชน ไปจนถึงตลาดต่างประเทศ พบโลมาสีชมพู โลมาหัวค้อน โลมาหัวบาตร เต่าตนุ ซึ่งในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้กว่า 300 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถส่งอาหารทะเลหล่อเลี้ยงคนสงขลาได้ทั้งจังหวัด มีการส่งไปขายยังจังหวัดต่างๆ เช่นปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล ภูเก็ต ลพบุรี และกทม.และยังมีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เช่นจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ และมาเลเซีย จึงนับได้ว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ของคนสงขลาและอาเซียน และตอนนี้ก็เขยิบไปสู่การทำข้อมูลกิจการ “นกเขา” ใน อ.จะนะ ซึ่งนกเขาที่นี่มีชื่อเสียงถึงขนาดว่ามีการจองตั้งแต่ยังอยู่ในไข่กันทีเดียว

บังดอรนนี ระหมันยะ ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชายฝั่งทะเลบ้านสวนกงเล่าว่าแต่ก่อนอยากกินปลาอะไรในทะเลจะนะก็ได้กิน แต่ช่วงหนึ่งมีเรือประมงพาณิชย์บุกรุกทำให้ประมงชายฝั่งหากินไม่ได้ตอนนั้นพวกเขาเจ็บปวดมากเพราะต้องออกไปหากินข้างนอก และกลับมาคิดกันในกลุ่มว่าที่ไม่สามารถหากินได้ไม่ใช่เพราะคนมากขึ้นแต่เป็นเพราะทะเลจะนะกำลังเปลี่ยนไป ทำให้ในปี 2538 จึงมีการตั้งกลุ่มอนุรักษ์ประมงชายฝั่งเพื่อให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม ตอนนั้นชายหาดเสียหายมากคล้ายกับคนบ้านแตกก็ต้องสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ แต่ตอนนี้ทะเลจะนะกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมแล้วและไม่อยากให้เสียหายไป “พวกเราอยากทำให้คนภายนอกรู้จักเราว่าทะเลที่นี่สมบูรณ์ ให้แต่คนทำข้อมูลมา ของใครใครทำเวลาไปไหนก็ไปพร้อมกับหนังสือที่ทำ (รายงานเอชไอเอชุมชน) แล้วบอกกับทุกคนว่าที่นี่มีปลามาก พวกเราอยู่ได้อย่างสบายไม่อยากให้เปลี่ยนไป”

น้าแทนสะท้อนว่าความแตกต่างของการทำงานข้อมูลกรณีท่อก๊าซกับท่าเทียบเรือคือกรณีท่อก๊าซฯ ข้อมูลจะกระจุกอยู่ในกลุ่ม NGOs และนักวิชาการภายนอกซึ่งรับรู้ข้อมูลโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2536 แต่ชุมชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลไปพร้อมกันและไม่มีการทำข้อมูลของชุมชนเองไปประกอบการตัดสินใจทำให้ “มีความรู้แต่ขาดความรู้สึก” แต่ในกรณีนี้เมื่อชาวบ้านมีข้อมูลตัวเองและรู้สึกว่ามันเป็นข้อมูลของพวกเขา จึงทำให้เกิดวาทกรรมของคนที่นี่ว่าทะเลคือชีวิตเพราะเขาเกิดเติบโตและหากินอยู่ที่นี่ และยังพบว่าเกิดปรากฏการณ์ความรู้สึกยอมรับว่าข้อมูลที่ได้เป็นของชาวบ้านไม่ใช่ของ NGOs มีเพื่อนจากหลายวงการเข้ามาช่วยเหลือ เช่น กลุ่มละครมะนาวหวานที่ทำข้อมูลนี้ไปแสดงเป็นละครเวทีเล่นในชุมชน มีกลุ่มที่ทำเรื่องนิทานเข้ามาช่วยอบรมครูจำนวน 17 โรงเรียนใน อ.จะนะ และพาครูลงพื้นที่เพื่อให้ไปทำข้อมูลและใช้สอนเด็ก

และที่สำคัญยังนำข้อมูลนี้ไปให้กับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่มีส่วนกำหนดนโยบายและอนุมัติอนุญาตตามอำนาจที่มี ได้รับทราบข้อมูล จนเกิดเป็นปฏิญญา “การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารทะเลจะนะ เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารของภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งมีการลงนามกันในงานอะโบ๊ยหมะเลจะนะหรอยจ้าน ณ ชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ไปเมื่อ 30 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมานี้เอง

 

งานเขียนชิ้นนี้เกิดจากการลงเยี่ยมพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานเอชไอเอชุมชน กรณีการสร้างท่าเรือน้ำลึก อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556ที่ผ่านมา โดยมี นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ รองประธานอนุกรรมการรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2556 พร้อมด้วย อาจารย์ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ อนุกรรมการรางวัลสมัชชาฯ นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และทีมงาน

บังดอรนนี ระหมันยะ ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชายฝั่งทะเลบ้านสวนกง กำลังอธิบายการทำประมงชายฝั่งที่จะนะให้กับทีมงาน

บังคนนี้ใครๆ ก็พากันเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลจะนะ เป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงหลักที่ช่วยเติมข้อมูลด้วยว่าเกิด เติบโต และอยู่กับทะเลมาทั้งชีวิต