จุฬา-สช. จับมือพัฒนากำลังคนด้านเอชไอเอ

จุฬา-สช. จับมือพัฒนากำลังคนด้านเอชไอเอ

ถ่ายภาพร่วมกันเรียงจากซ้ายไปขวา รศ.ดร.สรันยา เฮงพระพรหม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.จันทรา  ทองคำเภท ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.โศภณ นภาธร   คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ภิรมย์  กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ     เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาตินพ.วิพุธ  พูลเจริญ   ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพศ.นพ.สุรศักดิ์  ฐานีพานิชย์กุลคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ภก.รศ.ดร.วิทยา  กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ              

               วันนี้ (18 มีนาคม 2557) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ณ ห้องรับรองชั้น 2 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.นพ.โศภณ นภาธร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ร่วมลงนาม
                 โดยบันทึกความร่วมมือทางวิชาการฯ จะมีความร่วมมือทางวิชาการดังนี้ 1.ร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ บุคลากรระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงาน 2.ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ 3.ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมตามที่เห็นพ้องต้องกัน 4.การดำเนินการและกิจกรรมเกี่ยวกับการสนับสนุนและส่งเสริมใดๆ ที่จะเกิดขึ้นตามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ จะจัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงและ/หรือสัญญากำหนดรายละเอียดโครงการและ/หรือกิจกรรมที่จะทำขึ้นภายใต้บันทึกความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ต่อไป โดยบันทึกความร่วมมือนี้จะมีอายุ 2 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม
                 ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหลังจากนี้จะนำประเด็นการทำงานต่อหลังจากการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการนี้ เข้าหารือในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีตนเป็นประธานอยู่และมีตัวแทนจาก 7 คณะที่มาจากทุกสาขา กับอีก 4 สถาบัน นอกจากนี้ทางจุฬาฯ ยังมีพันธสัญญาที่จะพัฒนาองค์ความรู้ให้กับระบบต่างๆ ของสังคม โดยในปัจจุบันได้มีการทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฎหลายแห่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็อาจจะนำความร่วมมือทางวิชาการนี้เข้าไปทำงานด้วย
                 นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าปัจจุบันการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือเอชไอเอ ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ.2550 และที่ผ่านมาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่มี นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน และได้มีการทำงานประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน นอกจากนี้ปัจจุบันเกิดเครือข่ายนักวิชาการเอชไอเอหรือ HIA Consortium และมีการทำงานร่วมกันกับตัวแทนภาคประชาสังคมในหลายประเด็น เช่นปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ ชุมชนหนองแหน อ.พนมสารคาม จ.หนองบัวลำภู ชุมชนท่าศาลาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนปฏิบัติการฯ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนวังสะพุงที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย
                นอกจากนี้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต่อว่าจากตัวอย่างการทำงานเอชไอเอร่วมกันที่ผ่านมาพบว่าปัญหาสุขภาพไปไกลกว่าเรื่องมดหมอหยูกยา แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และตัวนโยบายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดการมีสุขภาพที่ดี และการมีสุขภาพดีของชุมชนก็กินความหมายไปถึงการมีสุขภาวะที่ดีหรือการมีสุขภาพทั้งกาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ
                ด้าน นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่าจากการทำงานเป็นสหสาขาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและจากที่ทิศทางของสังคมกำลังพูดถึงนโยบายที่มีสุขภาวะหรือ Health in All Policy การร่วมมือการทางวิชาการครั้งนี้จึงควรใช้เอชไอเอเป็นเครื่องมือผสานความร่วมมือระหว่างสาขาอาชีพต่างๆ หรือร่วมมือเพื่อหนุนเสริมสื่อสารข้ามสาขาให้ตระหนักเรื่องสุขภาพจากการดำเนินการต่างๆ เพราะจากตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการเหมืองแร่ จะพบว่าในเวทีรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตการศึกษาของสาธารณะ หรือ Public scoping กลายเป็นเวทีทะเลาะวิวาทระหว่างชุมชนกับบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิศวกรเหมืองแร่ที่จะต้องเป็นผู้เข้าไปดำเนินการ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเห็นคุณค่าที่แตกต่างกันระหว่างอาชีพ ดังนั้นจะควรพัฒนาเครื่องมือนี้ให้เป็นการสื่อสารข้ามสาขา สร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้ง