สช.ลงพื้นที่จับเข่าคุยกลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ รับข้อเสนอทำ HIA เหมืองโปแตช


HIA in Thailand – สช.ลงพื้นที่จับเข่าคุยกลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ รับข้อเสนอทำ HIA เหมืองโปแตช






 

                  สช.ลงพื้นที่จับเข่าคุยกลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ รับข้อเสนอทำ HIA เหมืองโปแตช

          เมื่อวันที่ 13 พ.ค.57 เวลา 14.00 น. ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำโดยนายแพทย์ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และนายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนปฏิบัติการพื้นที่ ได้ลงพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เพื่อพูดคุยหารือกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่วัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กรณีที่กลุ่มชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนให้ทางสช.ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ตามมาตรา 11 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 

          ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เคยมีหนังสือถึง ประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 54 เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้สช.ลงมาดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช เพื่อให้เกิดข้อมูลเปรียบเทียบกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษากำลังดำเนินการศึกษา EHIA อยู่ในขณะนั้น

          โดยนางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 54 กลุ่มได้ทำหนังสือไปแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากสช. และถึงแม้ว่าที่ผ่านมาได้มีคณะมาทำการศึกษาวิจัย ก็เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการแต่ยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงตามกระบวนการที่เป็นทางการได้ ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังคงยืนยันที่จะให้ทางสช.ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง คือให้มีการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามกลไกของมาตรา 11 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

          “มาถึงวันนี้เป็นเวลา 3 ปี รายงาน EIA (การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ของบริษัทฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสผ.(สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) แล้ว จึงอยากทราบว่าทางสช.มีแนวทางอย่างไรที่จะช่วยเหลือชาวบ้านได้บ้าง” นางมณีกล่าว

          ด้านนายแพทย์ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจากหน่วยงานสช.เป็นช่องทางที่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้สิทธิในการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ โดยผ่านกลไกตามมาตรา 11 ซึ่งหากดูตามกฎหมายพ.ร.บ.สุขภาพนี้ คงไม่ถึงขนาดจะเข้าไปหยุดยั้งโครงการได้ แต่สช.ก็มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือชาวบ้านแน่นอน

          “สช.รับข้อเสนอของชาวบ้านคือ หนึ่งจะทำหนังสือขอ EIA ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วมาดูเพื่อให้เห็นข้อมูลก่อน อันที่สองเรื่องงานวิชาการที่ว่านี้ซึ่งผมคิดว่าอยู่วิสัยที่สช.สามารถทำได้ แต่จะมีแนวทางอย่างไร หรือดำเนินการอะไรได้บ้าง สช.จะแจ้งผลการดำเนินการกลับมาให้ทราบภายใน 1 อาทิตย์เพื่อแสดงความจริงใจ” นายแพทย์ประจักษวิช กล่าว

ที่มา
นายเดชา คำเบ้าเมือง ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000 โทรศัพท์ : 081-3696266
อีเมล์ : [email protected] ; [email protected]