ชัยภูมิ-สุรินทร์ บนถนนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียน CHIA

ชัยภูมิ-สุรินทร์ บนถนนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียน CHIA

เรื่องโดย ปิยกุล ภูศรี, พฤษภาคม 2557

ขอขอบคุณข้อมูลจาก รัตนา เอิบกิ่ง นักวิชาการอิสระ
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก อรนุช ผลภิญโญ

            

            ยางพารา พืชเศรษฐกิจจากแดนใต้ ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์จนสามารถนำไปปลูกขยายพันธุ์ได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคอีสาน แถมยังให้ผลผลิตน่าพอใจ ทำให้อุตสาหกรรมยางพาราขยายตัวจากภาคใต้ไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทย แต่การขยายตัวของพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา ก็นำมาซึ่งความห่วงกังวลในเรื่องของผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ยางพาราและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะนำมาสู่ชุมชนในท้องถิ่น เนื่องจากยางพาราไม่ใช่พืชประจำถิ่นของภาคเหนือ ตะวันออก และอีสาน และความไม่มั่นใจว่าอุตสาหกรรมแปรรูปยางจะดำเนินการได้อย่าง ‘สะอาด’ แค่ไหน
            ตำบลดงบัง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่การพัฒนาเกษตรกรรมในรูปแบบของ ‘โรงงานยางพาราอัดแท่ง STR และยางแผ่นรมควัน’ ได้เข้ามาเคาะประตูเยี่ยมเยือนและเตรียมลงหลักปักฐานในชุมชนโดยที่เจ้าบ้านอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่ตำบลดงบัง และตำบลใกล้เคียงยังไม่ได้เปิดประตูบ้านต้อนรับ แต่องค์การบริหารส่วนตำบลคอนสารก็ได้มีมติเห็นชอบให้ บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่ และกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้ออกใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานฯ แล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากการมาถึงของโรงงานแปรรูปยางพาราหรือไม่ 

            เนื่องจากโรงงานยางพาราอัดแท่งเป็นโรงงานประเภทที่ 3 ที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าหากโรงงานเข้ามาตั้งในพื้นที่แล้วจะปลอดผลกระทบอย่างสิ้นเชิงหรือไม่ เนื่องจากในพื้นที่อำเภอคอนสารมีระบบนิเวศ ‘น้ำผุด’ ที่เป็นโครงข่ายน้ำใต้ดินครอบคลุมทั้งอำเภอ ชาวบ้านทั่วไปได้ใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำตื้น ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลว่าโรงงานยางพาราจะส่งผลกระทบต่อระบบน้ำใต้ดินแห่งนี้หรือไม่ ยังไม่รวมถึงข้อสังเกตของชาวบ้านว่าตัวโรงงานตั้งอยู่ห่างจากแหล่งผลิตยางพารา จึงไม่เหมาะสมกับการมาตั้งโรงงานในละแวกนี้ และการที่สถานที่ที่คาดว่าโรงงานจะมาสร้างนั้นอยู่บนที่สูงที่อาจจะส่งผลกระทบด้านกลิ่น และมลพิษทางอากาศ ออกไปได้อย่างกว้างไกล และความห่วงกังวลเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

            แม้ว่าในตอนนี้โรงงานยางพาราจะยังไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ด้วยเหตุนี้ ประชาชนในพื้นที่ 4 ตำบลของอำเภอคอนสารจึงรวมตัวกันในนามกลุ่ม ‘รักษ์คอนสาร’ เพื่อต่อต้านการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราในพื้นที่อำเภอคอนสาร และ 11 ตุลาคม 2556 ได้ขอใช้สิทธิตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตลอดจนขอรับการสนับสนุนการสร้างกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ มายังสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานด้านวิชาการเพื่อต้านทานกับการพัฒนาที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และยังไม่ให้การยอมรับ

            ในเดือนมกราคม 2557 กลุ่มรักษ์คอนสารได้เข้าร่วมงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมโดยเครื่องมือภายใต้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่จังหวัดขอนแก่น และได้พบกับชาวบ้านจากจังหวัดสุรินทร์ที่ต่อสู้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่การดำเนินกิจการก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมของวิถีชีวิตของคนในชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่เลือกใช้ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (CHIA : Community Health Impact Assessment) เพื่อสร้างองค์ความรู้ และนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อเสนอให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบ และสังคมได้เห็นว่าสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมีคุณค่าเกินกว่าที่โรงงานโรงงานหนึ่งจะเข้ามาครอบครองและทำลายได้ กลุ่มรักษ์คอนสารจึงเห็นว่า CHIA จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทั้งชาวบ้าน หน่วยราชการ และสังคม ได้เข้าใจถึงคุณค่าของพื้นที่อำเภอคอนสาร

            อรนุช ผลภิญโญ หรือ พี่ต่าย เลขานุการกลุ่มรักษ์คอนสาร กล่าวถึงประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้องชาวจังหวัดสุรินทร์เมื่อวันที่ 18-19 เมษายน 2557 ที่ผ่านมานี้ว่า “สิ่งที่เราได้จากการไปดูงานที่สุรินทร์ที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘ถ้าเขายังไม่สร้าง อย่าให้เขาสร้าง’ เราต้องสู้อย่างถึงที่สุด เพราะบทเรียนจากสุรินทร์บอกกับเราว่า พอเราปล่อยให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นมาในพื้นที่แล้วเราคิดจะมาแก้ทีหลังมันแก้ยาก พอมีปัญหาโรงงานก็ไม่รับผิดชอบ เงินชดเชยก็ไม่ถึงมือชาวบ้าน ดังนั้น พื้นที่ของเรายังไม่มีโรงงานมาตั้ง เมื่อมีโอกาสคัดค้านเราก็ต้องคัดค้าน นอกจากเราจะเห็นปัญหาแล้ว การลงพื้นที่สุรินทร์ยังทำให้เราเห็นกระบวนการต่อสู้โดยชุมชน เห็นการทำงานในพื้นที่ ซึ่งเราจะได้นำมาประยุกต์ใช้กับกลุ่มรักษ์คอนสารต่อไป”

            ถึงแม้ในตอนนี้กระบวนการ CHIA ในพื้นที่อำเภอคอนสารจะยังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการ แต่พี่ต่ายก็มั่นใจว่า CHIA จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์กับการต่อสู้ของชุมชน โดยพี่ต่ายกล่าวถึงความคาดหวังจากการทำ CHIA ว่า “โดยส่วนตัวคิดว่าการทำ CHIA มีประโยชน์มากพอสมควร ข้อแรก คือชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำ และข้อสองคือ ทำให้ชาวบ้านและสังคมจะทราบว่าในพื้นที่ของเรามีอะไรที่สำคัญบ้าง เก็บไว้เป็นข้อมูลในเชิงสถิติ เพื่อที่เราจะได้นำมาประเมินว่าสิ่งที่เรามีอยู่คืออะไร ถ้ามีโรงงานแล้วมันจะคุ้มกับสิ่งที่เราสูญเสียมั้ย สิ่งที่เราจะได้จากโรงงานคืออะไร เราต้องพิจารณาทั้ง ‘มูลค่า’ ที่มันเป็นตัวเงิน และ ‘คุณค่า’ เช่น วิถีชีวิต ที่มันประเมินเป็นตัวเงินไม่ได้ ตอนนี้ชาวบ้านในคอนสารก็มีความรู้เรื่อง CHIA แล้ว เพราะเรายกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เขาหินซ้อนให้ชาวบ้านเห็นว่าเขามี CHIA แล้วมันก็ได้ข้อมูลออกมาเป็นแผนภาพแผนผังที่ชัดเจน ชาวบ้านเขาก็อยากทำบ้าง เพราะมีตัวอย่างที่ชาวบ้านเห็นเป็นรูปธรรม”

            แม้ว่าหนทางของการต่อสู้แห่งชาวคอนสารจะยังอีกยาวไกล แต่เชื่อมั่นว่าชาวคอนสารจะสามารถต่อสู้ได้อย่างเข้มแข็งโดยใช้ปัญญาเป็นหนทางหลักในการแก้ปัญหา จากการได้เห็นตัวอย่างการต่อสู้ในพื้นที่อื่น และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้านที่เคยผ่านทั้งน้ำตาและรอยยิ้มจากการต่อสู้มาก่อนพวกเขา

            เพราะเรามั่นใจว่า ชาวคอนสารจะไม่เดินบนถนนแห่งการต่อสู้นี้เพียงลำพัง