‘เมฆปริศนา-รอยเหมือง’ บันทึก-ทบทวน ร่องรอยเหมืองในเมืองไทย


HIA in Thailand – ‘เมฆปริศนา-รอยเหมือง’ บันทึก-ทบทวน ร่องรอยเหมืองในเมืองไทย






                             ‘เมฆปริศนา-รอยเหมือง’ บันทึก-ทบทวน ร่องรอยเหมืองในเมืองไทย

                   คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จัดงานเปิดตัวหนังสือ “เมฆปริศนา” ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเหมืองแร่ในไทย และ “รอยเหมือง” สารคดีภาพเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย ภายในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 โดยกว่าที่จะเป็นหนังสือทั้งสองเล่มนี้ ทีมงานผู้จัดทำต้องใช้เวลานานหลายเดือนในการเก็บข้อมูล ลงพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ ถ่ายภาพ และสัมภาษณ์ผู้คนหลายสิบคน เพื่อให้หนังสือชุดเหมืองแร่นี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทำเหมืองแร่ในประเทศไทย และผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
                   วัชราภรณ์ วัฒนขำ มูลนิธิ เลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่าปัจจุบันจังหวัดเลยยังคงมีการเดินหน้าเปิดเหมืองใหม่ และประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เริ่มเจ็บป่วยหลายราย และในหนังสือเล่มนี้มีภาพที่สะท้อนความขัดแย้งจากการทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลย คือภาพที่ชาวบ้านถูกกองกำลังตำรวจสกัดไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นการเปิดเหมืองแปลงใหม่ที่ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย จากเหตุการณ์เหล่านี้พบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการมองชาวบ้านคือผู้ขัดขวางการทำเหมือง แต่เขาไม่ได้มองว่าชาวบ้านเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่

                   สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการอิสระด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หนึ่งในคณะผู้จัดทำ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำหนังสือชุดเหมืองแร่ทั้งสองเล่มว่า “เราต้องการสื่อสารประเด็นปัญหานโยบายเหมืองแร่ในไทย ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมันทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ และให้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวนโยบายเหมืองแร่ เพื่อลดผลกระทบ เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม มีความเป็นธรรม และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งตอนแรกเราตั้งใจจะทำเล่มเดียว แต่จากการลงพื้นที่ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก เลยต้องแบ่งออกเป็นสองเล่มคือสารคดีกับหนังสือภาพ ซึ่งในตอนนี้ เชื่อว่าในประเทศไทยยังไม่มีใครรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่อย่างเป็นระบบมาก่อน”

                   “เราตั้งใจที่จะนำข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้ไปใช้เพื่อการจัดขบวนขับเคลื่อนเพื่อการปรับเปลี่ยนนโยบายเหมืองแร่ในทุกมิติ โดยใช้กลไกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีหน้าที่โดยตรงในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานโยบายสาธารณะ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคชุมชน นอกจากนี้ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงของชุมชนกับอุตสาหกรรมขุดเจาะ ซึ่งรวมถึงเหมืองแร่และปิโตรเลียม ก็จะเอาข้อมูลในหนังสือชุดเหมืองแร่นี้มาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการวิจัยด้วย”

                   ผู้จัดทำยังได้กล่าวถึงความมุ่งหวังในการเผยแพร่หนังสือชุดเหมืองแร่ไปสู่สาธารณชนว่า “อยากให้คนไทยทุกคนได้อ่านหนังสือชุดประวัติศาสตร์เหมืองแร่ในประเทศไทย เพราะแร่เป็นทรัพยากรสาธารณะ อยากให้ทุกคนได้ร่วมกันไตร่ตรองว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา เพื่อจะได้ช่วยกันตั้งคำถาม เพราะแร่ที่คนในเมืองใช้มาจากการทำเหมืองแร่ที่หลายแห่งส่งผลกระทบกับชาวบ้านในชนบท ทำให้พวกเขาป่วยไข้ล้มตาย อยากให้คนได้หันมามองตรงจุดนี้ด้วย เพราะสำนึกสาธารณะจะเป็นแรงขับสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบาย เพื่อให้เราทุกคนได้ร่วมมือกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของเราทุกคน”

                   ด้าน บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ผู้เขียนหนังสือทั้งสองเล่มกล่าวถึงที่มาของการทำหนังสือชุดนี้ว่า “ผู้เขียนและช่างภาพ คุณเริงฤทธิ์ คงเมือง เป็นคนที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และสช.ก็ทำเรื่องการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งมีหลายแห่งที่เป็นกรณีเหมืองแร่ พอเราได้ไปเห็นข้อมูลก็มาคุยกันว่าทำไมภาพเหล่านี้ไม่ถูกนำเสนอ เลยเอาโครงการทำหนังสือเกี่ยวกับเหมืองแร่ไปเสนอกับสช. ว่าเราอยากทำหนังสือบอกเล่าประวัติสาสตร์ของเหมืองแร่ ซึ่งในเล่มก็จะมีพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับเหมือง 11 แห่ง ทั้งที่เคยเป็นเหมืองแต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว พื้นที่ที่ทำเหมืองอยู่ในปัจจุบัน และพื้นที่ที่ยังไม่สร้างเหมืองแต่มีโครงการว่าจะสร้างในอนาคต ซึ่งเราพยายามนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน คือทั้งจากชุมชน และผู้ประกอบการ แต่ผู้ประกอบการหลายคนก็ไม่อนุญาตให้เราเข้าไปถ่ายภาพหรือสัมภาษณ์ อย่างเช่นที่พิจิตร เป็นต้น”

                   “ความท้าทายของการทำหนังสือชุดเหมืองแร่ก็คือทุกพื้นที่ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เราเป็นคนนอกที่เข้าไปในพื้นที่ ทั้งชาวบ้านและบริษัทเหมืองก็มีความระแวง เขาก็เกร็ง เราก็เกร็ง และข้อมูลที่เราได้จากสองฝั่งก็ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เราก็ต้องพยายามฟังทั้งสองฝ่าย อย่างชาวบ้านที่เขาระแวง เราก็ต้องคุยกับเขาจนเขาไว้ใจ อย่างที่แม่ตาว เราไปเยี่ยมชาวบ้านที่นอนป่วยเป็นโรคไตที่บ้าน ไปคุยกับเขา ซึ่งถึงตอนนี้ผู้ป่วยโรคไตที่เราเคยไปนั่งคุยด้วยก็เสียชีวิตไปแล้ว 2-3 คน คนไหนที่ไม่ยินดีเราก็ไม่นำเสนอ ซึ่งชาวบ้านบางคนไล่เราลงจากบ้านเลยก็มี”

                   “ในส่วนของผู้เขียนเอง คาดหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะถูกรับรู้ สิ่งที่เหมืองได้ย่ำรอยและทิ้งไว้มีหลายแง่ อย่างที่ภูเก็ต ที่เคยเป็นเหมืองดีบุกที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ลงเอยด้วยการเผาโรงงานแร่แทนทาลัม ไปจนถึงความป่วยไข้ของคนใกล้เหมือง อยากให้คนได้เห็น ได้คิด อย่างเราจะซื้อทองซักบาทหนึ่งเนี่ย เราต้องขุดดินขึ้นมาถึง 20-30 ตัน อยากให้คนได้ฉุกคิดเวลาบริโภคของพวกนี้ และอยากให้หนังสือชุดนี้เป็นเสียงให้คนที่ไร้เสียงได้มีที่พูด” ผู้เขียนทิ้งท้ายถึงความคาดหวังที่มีต่อหนังสือชุดนี้

                   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2554 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยคุณสมพร เพ็งค่ำ ได้จัดทำโครงการจัดทำต้นฉบับหนังสือสารคดีภาพถ่ายเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทย ร่วมกับคุณเริงฤทธิ์ คงเมือง ช่างภาพ และคุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ ผู้เขียน และพัฒนาจนมาเป็นหนังสือชุดประวัติศาสตร์เหมืองแร่ฯ เมื่อได้อ่านหนังสือชุดนี้ จึงได้สัมผัสทั้งเรื่องราวการทำเหมืองแร่ ชีวิตผู้คน ทั้งสุข ทั้งทุกข์ มีทั้งเสียงหัวเราะ และคราบน้ำตา เห็นคนได้ เห็นคนเสีย คำถามที่ควรตั้งตามมาจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือเราจะช่วยกันแสวงหาแนวทางการพัฒนาแบบสมดุล พอดี พอเพียง เคารพในคุณค่า ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของทุกคน ทุกพื้นที่ เคารพธรรมชาติ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีสุขภาวะที่เป็นรูปธรรมได้อย่างไร ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เป็นสมบัติอันมีค่าของทุกคนในแผ่นดินเดียวกัน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นบนพื้นแผ่นดินนี้ก็เป็นทุนทางสังคมที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน เกินกว่าที่จะประเมินค่า เป็นตัวเงินได้เช่นกัน

                   หนังสือ “เมฆปริศนา” ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเหมืองแร่ในไทย และ “รอยเหมือง” สารคดีภาพเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย จึงเป็นการบันทึกเรื่องราวและร่องรอยของการทำเหมืองแร่ในประเทศชิ้นสำคัญ และเชื้อเชิญให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย และเชื่อเหลือเกินว่า ‘ความจริง’ บางอย่างในหนังสือเล่มนี้จะสะกิดใจผู้อ่านให้ได้สะท้อนย้อนคิดถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ได้อย่างแน่นอน