คว่ำทบทวนมติ FTA เหตุเห็นต่าง HIA ไม่เป็นอุปสรรคและทำให้เกิดความล่าช้า พร้อมเสนอตั้งคณะทำงานต่อ

 คว่ำทบทวนมติ FTA เหตุเห็นต่าง HIA ไม่เป็นอุปสรรคและทำให้เกิดความล่าช้า พร้อมเสนอตั้งคณะทำงานต่อ

วันนี้ (18 มิถุนายน 2557) คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ที่มีคุณศิรินา ปวโรฬารวิทยา เป็นประธาน รับทราบบันทึกการประชุมคณะอนุคณะกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 1 เรื่องการขอทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ เสนอตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงมติทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ หลังที่ที่ประชุม                          อนุกรรมการดำเนินการประชุมฯ มีมติคว่ำการทบทวนมติดังกล่าวเหตุยังคงเห็นต่างประเด็นการให้การศึกษาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือ HIA ไม่เป็นอุปสรรคและทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ (FTA : Free trade Area)

         บันทึกที่ประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 1 เรื่องการขอทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ เนื่องจากภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 6 ยังคงเห็นแย้งกันในประเด็นการศึกษาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ไม่เป็นอุปสรรคและทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ และมีข้อเสนอต่อ คจ.สช. คือที่ประชุมยืนยันรักษาจิตวิญญาณสมัชชาสุขภาพในการทำงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมต่อไป ขอให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พิจารณาตั้งคณะทำงานที่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อปรับปรุงร่างมติการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยพิจารณาข้อเสนอจากภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 เป็นพื้นฐาน และนำมาเสนอในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7
         นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 1 กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่มีการคว่ำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยการขอให้มีการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ในครั้งนี้เป็นมติที่ได้ฉันทมติไปแล้วจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 แต่มีหลายประเด็นที่ยังคงเห็นต่างและมีความพยายามทำงานร่วมกันมาเป็นเวลาปีกว่า แต่หลังจากนี้ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพยังคงรักษาจิตวิญญาณในการทำงานร่วมกันต่อไป  

         ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขอให้คงข้อความ HIA ไม่เป็นอุปสรรคและทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ เพราะกังวลว่าการศึกษา HIA จะทำให้กระบวนการ FTA ล่าช้าและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกันและขอได้ปรับท่าทีในเอกสารมติสมัชชาสุขภาพไปมากแล้ว

         ด้านผู้แทนภาคประชาสังคม จากมูลนิธิสร้างเสริมสุขภาพองค์รวม ขอให้ถอดข้อความ HIA ไม่เป็นอุปสรรคและทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ เพราะ FTA ในครั้งนี้จะทำให้ยาแพงขึ้น ประชาชนเข้าถึงยาได้ยากขึ้น เหล้าบุหรี่จะเสรี เกิดผลกระทบต่อชีวิต เป็นเรื่องของความเป็นความตายของผู้คน เรื่องเหล่านี้ควรต้องใช้กระบวนการ HIA ไปศึกษาและนำผลการศึกษาไปใช้ในกระบวนการ FTA ด้วย แต่การทำงานที่ผ่านมานับได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์มากและแม้วันนี้จะยังไม่เกิดความเห็นร่วม ก็หวังว่ายังมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันต่อไป ตามนิยามที่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์กล่าวไว้ว่าหัวใจของสมัชชาสุขภาพคือสายธารของกระบวนการเรียนรู่ร่วมกัน
         โดยการประชุมทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ นี้มีการประชุมกันตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2557 แต่มีข้อเห็นต่างที่ยังไม่ได้ข้อสรุป จนประธานอนุกรรมการคณะที่ 1 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์  ขอให้ไปพูดคุยกันต่อในห้องกัลยาณมิตรที่มี นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เป็นประธาน โดยมีข้อถกเถียง 2 ประเด็นหลักคือ การขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้หลักการระมัดระวังไว้ก่อน (Precautionary principle) ในการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ ซึ่งในภาคเช้าสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เสนอให้มีการนิยามและให้นำเสนอนิยามหลักการนี้ของกรมเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ ซึ่งข้อสรุปก็คือไม่ต้องมีการระบุนิยามนี้ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ
สำหรับอีกประเด็นคือ ขอให้มีการประเมินผลกระทบในประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคม และครอบคลุมการเจรจาในกรอบต่างๆ “โดยไม่เป็นอุปสรรคหรือทำให้เกิดความล่าช้าในการเจรจา” ด้านหนึ่งขอให้ตัดข้อความ โดยไม่เป็นอุปสรรคหรือทำให้เกิดความล่าช้าในการเจรจา อีกด้านขอให้คงข้อความนี้ไว้ แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปจนต้องมีการกลับมาประชุมต่อในคณะอนุกรรมการชุดที่  1 ในเช้าวันที่ 18 มิถุนายน จนกระทั่งมีข้อสรุปว่าไม่มีมติและเสนอให้มีคณะทำงานต่อดังที่กล่าวไปแล้ว