เครือข่ายสมัชชาสุขภาพย้ำเดินหน้าปฏิรูปอีไอเอและผลักดันการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์

 เครือข่ายสมัชชาสุขภาพย้ำเดินหน้าปฏิรูปอีไอเอและผลักดันการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์

 

                  เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา มติ 5.6 การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ภายในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีตัวแทนจากภาคชุมชน นักวิชาการ ตัวแทนจากภาครัฐ เข้าร่วม
                  น.ส. นันทวรรณ หาญดี ตัวแทนคณะนักวิจัยเอชไอเอชุมชน กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่ควรทำในการปฏิรูป EIA/EHIA คือการให้ข้อมูลความเชื่อมโยงระหว่างโครงการกับศักยภาพของพื้นที่กับชุมชนเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพราะชุมชนจะได้เข้าใจว่าจะเกิดอะไรกับชุมชน รวมถึงการที่จะให้ข้อมูลของชุมชนขึ้นประกอบการพิจารณารายงาน EIA/EHIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) ด้วย และจากประสบการณ์พบว่าปัจจุบันชุมชนยังขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ 

                  นางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์. ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าปัจจุบันทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) และควรใช้ SEA ประเมินการทำแผนพัฒนาระดับชาติ เช่น แผนพัฒนาพลังงานหรือ PDP ด้วย นอกจากนี้หากจะมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและสัดส่วน คชก. ก็สามารถทำได้ตามระเบียบการแต่งตั้ง คชก.

                  น.ส. สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า มีข้อเสนอสำหรับการปฏิรูป EIA/EHIA 3 ข้อ คือ 

                  1. ให้มีช่องทางและกลไกการกลั่นกรองและกำหนดประเภทโครงการที่ต้องทำ EIA EHIA เพราะที่ผ่านมามีโครงการหรือกิจกรรมบางประเภทเลี่ยงการทำ EIA EHIA เช่น เกิดโรงไฟฟ้าขนาดต่ำกว่า 10 MW เพื่อไม่ต้องทำ EIA และสำหรับโครงการและกิจกรรมที่อุบัติขึ้นใหม่ในสังคมไทย เช่นกรณีพื้นทีปนเปื้อนมลพิษ

                  2. ให้ คชก. มีกลไกทวนสอบข้อเท็จจริงของรายงาน EIA EHIA และช่องทางที่ข้อมูลของชุมชนจะเข้าไปสนับสนุนการพิจารณาของ คชก. อย่างเป็นรูปธรรม จากตัวอย่างของกรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA แต่บริษัทขอทำตามกระบวนการ EHIA และมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นแต่ประชาชนผู้มีส่วนได้รับผลกระทบบางส่วนถูกกันไม่ให้เข้าร่วมเวที ซึ่ง คชก. ก็รับทราบเรื่องนี้ แต่ที่พิจารณารายงาน EIA และให้ผ่านเพราะบริษัททราบแล้วว่าชุมชนกังวลเรื่องใดและทำการศึกษาไปแล้ว จากตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่ายังไม่มีการนำข้อมูลชุมชนไปใช้อย่างเป็นระบบ

                  3. ระหว่างที่รอการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรให้มีการหนุนเสริมและเสริมศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทุกฝ่ายทั้ง ชุมชน รัฐ เอกชน ให้เข้าใจตามเจตนารมณ์ EIA/EHIA

                  นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มี คชก. ระดับจังหวัดเพื่อพิจารณาระดับพื้นที่ด้วยต่อมาในเวลา 15.00-16.00 น. มีการเปิดตัวโครงการรณรงค์ Reform EIA+Restrat SEA พร้อมกันนี้เครือข่าย EHIA Watch เปิดให้ลงชื่อร่วมรณรงค์ Reform EIA+Restrat SEA ณ ลานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ