แผ่นพับข้อเสนอการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EIA/EHIA

                    ปัจจุบันกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ที่ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะได้มาซึ่งข้อมูลหลักฐานประกอบการพิจารณาของหน่วยงานอนุมัติอนุญาตแต่ยังคงมีหลายขั้นตอนที่ยังต้องแก้ไข เช่น ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาขาดความโปร่งใสและมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยที่ผ่านมา เจ้าของโครงการสามารถเลือกและว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงานEIA/EHIAได้โดยตรง จึงกลายเป็นเพียงเครื่องมืออำนวยความชอบธรรมในการทำโครงการโดยขาดกระบวนการการรับฟังประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่าง เจ้าของโครงการและชุมชน แม้กระทั่งคนในชุมชนด้วยกันเอง เช่นตัวอย่างการประท้วงคัดค้านเวทีรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือ Public Scoping ของโครงการเหมืองแร่ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เมื่อต้นปี 2556 ที่ผ่าน หรือการประท้วงคัดค้านการทำกระบวนการ EHIA ของกลุ่มอนุรักษ์อุดรธานีต่อโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี
                    ที่ผ่านมามีการผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีข้อเสนอวิธีการและขั้นตอนใหม่ เช่น จัดตั้งกองทุน EIA/EHIA เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแยกตัวออกจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นองค์กรอิสระ หรืออาจตั้งองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลกระบวนการ EIA/EHIA ขึ้นมาใหม่ เพื่อดูแลพิจารณาตัดสินโครงการที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้ต้องทำรายงานตามระดับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งกำกับดูแลให้ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นเป็นไปด้วยความเป็นธรรมไม่ให้กลุ่มทุนหรือนักการเมืองเข้าแทรกแซง

                    โดยแผ่นพับ “ข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EIA/EHIA” จัดทำข้อมูลโดยคุณสมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการอิสระ และจัดทำศิลปกรรมโดยคุณวันทนีย์ มณีแดง ได้สะท้อนให้เห็นว่าจุดอ่อนของกระบวนการ EIA/EHIA ในปัจจุบันมีอยู่ในจุดใดบ้าง และ EIA/EHIA ที่สังคมอยากเห็นและช่วยปลดล็อคปัญหาได้ จะมีหน้าตาและกลไกเป็นเช่นไร เอกสารชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 และในวันที่ 27 มิถุนายน 2557 จะนำไปเป็นเอกสารประกอบยื่นให้กับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กองบัญชาการกองทัพบกถนนราชดำเนิน โดยคณะนักวิชาการ นำโดยนักวิชาการอาวุโส ประกอบด้วย รศ.ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ , ศ.ดร.สวัสดิ์ ธงชัย พรรณ, นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์, รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล , ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต , ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรฒ และ อาจารย์สมพร เพ็งค่ำ เพื่อขอให้ทบทวนโครงสร้างและระบบการประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EIA/EHIA)ที่สร้างความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวางและเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 ขอบขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/notes/greenpeace-southeast-asia-thailand
>>Click ที่รูปเพื่อดาวโหลดแผ่นพับข้อเสนอการปฏิรูประบบ EIA/EHIA <<