นักวิชาการยื่น คสช. ให้ปฏิรูปอีไอเอให้เสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมยกเลิกอีไอเอเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี ท่าเรือขนถ่านหินคลองรั้ว กระบี่ การขยายพื้นที่ขอสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ เลย

นักวิชาการยื่น คสช. ให้ปฏิรูปอีไอเอให้เสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมยกเลิกอีไอเอเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี ท่าเรือขนถ่านหินคลองรั้ว กระบี่ การขยายพื้นที่ขอสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ เลย

   จากซ้ายไปขวา ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล พลตรี พลภัทร วรรณภักตร์ และ อ.สมพร เพ็งค่ำ

                เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 เวลา 15.00 น. กลุ่มนักวิชาการนำโดย ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล และอ.สมพร เพ็งค่ำ เดินทางเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ขอให้ยกเลิกรายงาน กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่สร้างความขัดแย้งและให้ปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยข้อเสนอได้ยึดแนวมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เรื่องมติการปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) และข้อมูลและความคิดเห็นจากนักวิชาการ ภาคประชาชน องค์กรเอกชนและเอกชน โดยมีพลตรี พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก เป็นตัวแทนรับหนังสือและส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ คสช.
                จากเอกสารขอให้ยกเลิกรายงาน กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่สร้างความขัดแย้งและให้ปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ระบุว่า ระบบและโครงสร้างของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ Environmental Health Impact Assessment : EHIA ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มีปัญหาและข้อจำกัดหลายประการเช่น

                1. โครงสร้างการจัดการ ไม่โปร่งใส อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายการเมือง

                2. เอื้ออำนวยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

                3. การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ทั่วถึง สร้างความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชน

                4. มีการใช้ข้อมูลเท็จในการจัดทำรายงาน มาตรการต่างๆ ที่ระบุไว้จึงไม่สามารถป้องกันและแก้ไขผล กระทบจากการดำเนินโครงการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะบังคับให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบได้

                ดังนั้นเพื่อยุติความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมและลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการเยียวยาปัญหาผลกระทบอันเกิดจากโครงการพัฒนา รวมถึงให้ประเทศไทยมีเครื่องมือทางวิชาการที่มีความเป็นอิสระในการแสวงหาข้อมูลหลักฐานอย่างเที่ยงตรง รอบคอบ รอบด้าน ภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงมีข้อเสนอให้ คสช. ออกคำสั่งดำเนินการ ดังนี้

                1. ยกเลิกการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่กำลังสร้างความแตกแยกในชุมชน ปัจจุบัน จำนวน 3 โครงการ เนื่องจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้จะอนุญาตให้จัดทำใหม่หลังจากที่มีการปฏิรูประบบ EIA/EHIA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่

                1.1 โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี 

                1.2 โครงการก่อสร้างท่าเรือคลองรั้วเพื่อขนส่งถ่านหิน จังหวัดกระบี่ 

                1.3 โครงการขยายพื้นที่ขอสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย

                2. ปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยครอบคลุม ประเด็นสำคัญ 5 ด้าน 20 เรื่อง เป็นอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

                2.1 ด้านหลักการ เพื่อให้การกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ เป็นนโยบายที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงควรกำหนดให้ต้องดำเนินการดังนี้

                1) ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ก่อน และกำหนดให้ต้องใช้เป็นข้อมูลในพัฒนาโครงการ การประเมินผลกระทบในระดับโครงการโดยศึกษาความเหมาะสมและคุ้มประโยชน์ และมีการวิเคราะห์ต้นทุนสิ่งแวดล้อมและสังคมร่วมด้วย 

                2) หากการประเมินผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพบ่งชี้ว่าผลกระทบมีความรุนแรงและไม่อาจมีมาตรการลดผลกระทบอย่างเหมาะสมและปฏิบัติได้จริง หรือไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ต้องเป็นเหตุให้ยุติโครงการได้ 

                3) ปรับปรุงกฎ/กติกาที่สร้างให้เกิดการมีสวนร่วมอย่างมีคุณภาพ

                4) สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการแสดงข้อมูลหลักฐานและความคิดเห็นในกระบวนการมีส่วนร่วม

                2.2 ด้านโครงสร้างการบริหารงาน จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารดังนี้

                1) ให้มีการจัดตั้งกองทุนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA Fund) ที่เป็นอิสระเพื่อให้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางวิชาการ โดยเรียกเก็บเงินจากเจ้าของโครงการลงทุน เพื่อตัดวงจรการว่าจ้างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยตรงระหว่างเจ้าของโครงการและผู้รับจ้าง ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะต้องมีระเบียบวิธีปฏิบัติในการบริหารกองทุนที่โปร่งใสชัดเจน ปลอดจากอิทธิพลของฝ่ายการเมืองโดยให้แยกขาดจากการดำเนินงานของกระทรวงทบวงกรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง

                2) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นองค์กรอิสระ ทั้งนี้กระบวนการสรรหาบุคคลที่จะมาบริหารองค์กร จะต้องโปร่งใสและผ่านกระบวนการกลั่นกรองโดยมีภาคประชาชนร่วมด้วย

                2.3 ด้านกระบวนการจัดทำรายงาน จะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการจัดทำรายงาน EIA/EHIA

ดังนี้
                1) กระบวนการในการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (scoping) ต้องเป็นกระบวนการที่ดำเนินการโดยองค์กรอิสระร่วมกับภาคประชาชนก่อนที่จะออกเป็นข้อกำหนดในการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา (TOR)

                2) เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา

                3) ให้เพิ่มมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงการจัดทำรายงาน EIA/EHIA เช่น มีข้อกำหนดในการปรับปรุงบัญชีโครงการที่เข้าข่ายต้องทำรายงาน EIA/EHIA ทุกๆปี 

                4) ให้มีระบบร้องเรียนโครงการที่หลบเลี่ยงโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย โดยเพิ่มเติมข้อกำหนดในการลดผลกระทบสำหรับโครงการที่ไม่เข้าข่ายจัดทำรายงาน EIA/EHIA

                2.4 ด้านการพิจารณารายงาน จะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการพิจารณารายงาน EIA/EHIA ดังนี้

                1) ให้มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานของคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงาน EIA/EHIA โดยเปิดเผยและโปร่งใสมากขึ้น

                2) ให้ภาคประชาชนและนักวิชาการได้มีโอกาสเสนอข้อมูลและความคิดเห็นต่อการพิจารณาโครงการในทุกขั้นตอน

                3) ปรับปรุงโครงสร้างของคณะผู้ชำนาญการให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่มีผลกระทบ 

                4) นำผังเมืองที่ประกาศใช้หรือร่างผังเมืองที่ผ่านความเห็นชอบมาใช้ประกอบการพิจารณารายงาน EIA/EHIA

                5) กำหนดระยะเวลาการปรับปรุงรายงานหลังจากที่ คชก.ได้ให้ความเห็นปรับแก้ไขแล้ว

                2.5 ด้านการติดตามตรวจสอบ จะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการติดตามและตรวจสอบดังนี้

                1) ให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานอนุมัติมีอำนาจนำมาตรการป้องกันและมาตรการลดผลกระทบในรายงาน EIA/EHIA ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมในคำสั่งอนุมัติโครงการ

                2) ให้เจ้าของโครงการจัดเวทีนำเสนอผลการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบทุกช่วงระยะเวลาที่กำหนด

                3) ให้เครือข่ายชุมชนและสถาบันการศึกษาในพื้นทีมีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบรายงาน EIA/EHIA 

                4) กระจายอำนาจและหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบไปยังสำนักสิ่งแวดล้อมภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามความเหมาะสม