วงวิชาการย้ำต้องปฏิรูปโครงสร้างอีไอเอ-การออกนโยบาย ด้านภาคประชาชนเสนอ คสช. ประเมินตั้งแต่ยุทธศาสตร์และความเหมาะสมของพื้นที่

วงวิชาการย้ำต้องปฏิรูปโครงสร้างอีไอเอ-การออกนโยบาย ด้านภาคประชาชนเสนอ คสช. ประเมินตั้งแต่ยุทธศาสตร์และความเหมาะสมของพื้นที่

              วันที่ 3 กรกฎาคม 2557 เครือข่ายนักวิชาการ อีไอเอ/อีเอชไอเอ จัดการเสวนาในหัวข้อ “ผ่าตัด EIA/EHIA ลดความแตกแยก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ห้องประชุมพระยาสุนทรพิพิธ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเสนอสถานการณ์ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการการประเมินผลกระทบ และหาทางออกร่วมกันในการปฏิรูปโครงสร้างและกระบวนการในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ตามที่คณะนักวิชาการได้ยิ่นข้อเสนอในการปฏิรูปการจัดทำรายงานการประเมินข้างต้นไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา
              โดยมีตัวแทนนักวิชาการ สื่อมวลชน ตัวแทนชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ตัวแทนชุมชนจาก จ.กระบี่ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายถ่านหิน ตัวแทนชุมชน จ.อุดรธานีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โพแทช ตัวแทนชุมชน จ.ระยอง ที่ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตัวแทนชุมชนจากอ่าวอุดม จ.ชลบุรีที่ได้รับผลกระทบจากโรงกลั่นน้ำมันและท่าเทียบเรือพาณิชย์ ตัวแทนชุมชนเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และตัวแทนชุมชนจาก จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากทางด่วนมอเตอร์เวย์สายใหม่

              ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกลุ่มนักวิชาการที่ได้เสนอข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงที่มาของการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ว่า “จริงๆ แล้ว ความพยายามในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมมีมาเป็น 10 ปี แต่เราขาดกลไกผลักดันให้ข้อเสนอเหล่านั้นมีการดำเนินการเป็นรูปธรรม ซึ่งคนที่ทำงานด้านนี้ ทั้งนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม คนที่ทำงานด้านสุขภาพรู้ปัญหามาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำให้มันบรรลุผลได้ เพราะขาดเจ้าภาพในการดำเนินการ 

              ข้อเสนอในการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมนี้ ข้าราชการตลอดจนนักธุรกิจหลายภาคส่วนก็เห็นด้วย แต่เมื่อมันไม่มีเจ้าภาพมันก็ไม่เกิดผลอะไร เพราะนักการเมืองและผู้รับผิดชอบมองเรื่องเม็ดเงินของโครงการสำคัญมากกว่า ซึ่งผมมองว่ามันผิด เพราะมันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไปทำเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าให้เมืองใหญ่ๆ พาดสายไฟฟ้าข้ามหัวเขาไป แต่ชาวบ้านเขาไม่ได้ใช้ จากที่เขาเคยเข้าไปเก็บหาอะไรกินในป่า เขาก็ทำไม่ได้ ยังมีเรื่องของมลพิษ การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่เกิดจากการมาถึงของอุตสาหกรรม การพัฒนาดึงดูดคนต่างถิ่นให้เข้ามาทำงานในท้องถิ่นของชาวบ้าน ซึ่งเขาเป็นคนจากภายนอกที่เข้ามาแล้วก็ไป แต่สิ่งผลกระทบให้ชาวบ้านที่อยู่ในท้องถิ่นเดิมในระยะยาว เมื่อมีการพัฒนา มีความเจริญ มาตรฐานการครองชีพก็สูงขึ้น ยกตัวอย่างหัวเมืองชายทะเลอย่างภูเก็ต คนนอกที่เข้ามาทำมาหากินอยู่ได้ แต่ชาวบ้านท้องถิ่นอยู่ไม่ได้ ซึ่งผมมองว่ากรณีแบบนี้ชาวบ้านถูกบังคับให้จน พอมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราจึงมองว่า คสช. เป็นกลไกที่เราสามารถเสนอเรื่องการปฏิรูปเข้าไปได้ จึงได้ทำเรื่องเสนอไป”

              “เราเสนอแผนปฏิรูปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นเราเสนอให้ชะลอการทำอีไอเอใน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี โครงการก่อสร้างท่าเรือเพื่อขนถ่ายแร่ถ่านหิน จ.กระบี่ และ โครงการขอขยายพื้นที่ทำสัมปทานเมืองแร่ทองคำ จ.เลย ส่วนแผนในระยะยาว เราเสนอไปมากกว่า 20 เรื่อง เรื่องใหญ่ๆ ก็อย่างเช่น การเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการทำอีไอเอ ให้โปร่งใสและรัดกุมยิ่งขึ้น การกำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นองค์กรอิสระ และ ให้ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการเข้ามามีส่วนในการทำอีไอเอมากขึ้น เป็นต้น”

              ขณะที่ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าปัจจุบันเกิดความเดือดร้อนจากกระบวนการอีไอเอ อีเอชไอเอ จากชุมชนทั่วประเทศ หน่วยงานรัฐและนักวิชาการ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง จึงต้องมีการปฏิรูประบบนี้ทั้งระบบและโครงสร้าง เพื่อให้เครื่องมือการประเมินผลกระทบนี้ได้ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์คือเป็นเครื่องมือกลั่นกรองโครงการ ป้องกันและลดผลกระทบ โดยเคารพสิทธิชุมชน เคารพสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เป็นไปเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังต้องปฏิรูปกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และกระบวนการใช้อำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เช่น เหมืองแร่ ป่าไม้ การค้าเสรี ไปพร้อมกัน ถึงจะเป็นการปฏิรูปไปทั้งระบบอย่างแท้จริง

              นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการนำเอามติจากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เข้าไปประกอบในข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมว่า “เราได้เอาเนื้อหาทั้งหมดที่ได้จากข้อสรุปจากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เสนอเข้าไปในแนวทางการปฏิรูประบบอีไอเอ เรื่องหลักที่เสนอไปก็เช่น ไม่ให้ผู้ประกอบการจ้างบริษัทประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนของการทำอีไอเออย่างเป็นรูปธรรมและเต็มที่

              ด้าน เดชา คำเบ้าเมือง จากศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) กล่าวถึงกรณีการทำอีไอเอ/อีเอชไอเอ เหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ว่าชุมชนเสนอให้มีการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแร่โพแทชและศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะทำเหมืองแร่โพแทช ใต้ดิน เพราะชุมชนกังวลว่าอาจจะเกิดปัญหาน้ำเสียที่ออกจากเหมืองแร่โพแทชซึ่งมีความเค็มจะไหลเข้าสู่ที่ทำกิน และการทรุดตัวจากการขุดเหมืองใต้ดิน

              นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดจากการทำ อีไอเอ/อีเอชไอเอ กรณีเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านไม่แท้จริง ต้องบอกก่อนว่ากรณีเหมืองแร่โพแทชที่อุดรธานีไม่เข้าข่ายโครงการที่อาจมีผลกระทบรุนแรงตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ขอประทานบัตรก็ดำเนินการจัดทำอีเอชไอเอ แต่กระบวนการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กลับเป็นการพิจารณา อีไอเอ ซึ่งพอมีการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน บริษัทที่ปรึกษาก็คัดเลือกเฉพาะคนของฝ่ายที่สนับสนุนเหมืองแร่เข้าไปฟัง แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารมากันประชาชนกลุ่มต่อต้านไว้ไม่ให้เข้าร่วม ซึ่งทางบริษัทและราชการมองว่าชาวบ้านกลุ่มต่อต้านจะเข้าไปทำคววามวุ่นวาย จะไปล้มเหมืองแร่ เขามีทัศนคติเป็นลบกับชาวบ้าน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทกับชาวบ้าน รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในชุมชนเดียวกันด้วย”

              “ที่ผ่านมากระบวนประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมันมีปัญหาอยู่แล้ว เพราะผู้ประกอบการไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาโดยตรง ซึ่งร้อยทั้งร้อยเขาก็ต้องทำเพื่อรับจ้างนายทุน การพิจารณาของสผ.ก็ไม่ยอมรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างรอบด้าน เราจึงคาดหวังว่าจะเกิดการปฏิรูปกระบวนการที่มันไม่ถูกต้องเหล่านี้ ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมจริงๆ และให้มีการศึกษาผลกระทบโดยนักวิชาการจริงๆ ไม่ใช่นักวิชาการรับจ้าง” เดชากล่าวทิ้งท้าย

              ด้านนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่าสำหรับโครงการเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วขอให้มีการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบที่กำหนดไว้ในรายงานอีไอเอ และถ้าไม่สามารถทำได้ขอให้คืนประทานบัตร และขอให้มีการประเมินระดับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่จังหวัดเลย ว่าจะเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ พื้นที่ท่องเที่ยว และพิจารณาความคุ้มค่ากับวิถีชึวิตชุมชน นอกจากนี้ขอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 โดยเฉพาะในส่วนของการลงโทษและการกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ เพราะปัจจุบันชาวบ้านได้รับผลกระทบมาก เช่นต้องซื้อน้ำดื่มน้ำใช้ อาหารตามธรรมชาติหายไป ลำน้ำสายหลักไม่สามารถใช้ได้ และพบคำไต่สวนคำขอประทานบัตรสำหรับแปลงใหม่ หรือแปลงภูเหล็กเป็นเท็จอีกด้วย