คชก. ไม่เห็นชอบครั้งที่ 3 กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลเปลี่ยนใช้ถ่านหิน ที่เขาหินซ้อน ฉะเชิงเทรา

           คชก. ไม่เห็นชอบครั้งที่ 3 กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลเปลี่ยนใช้ถ่านหิน ที่เขาหินซ้อน ฉะเชิงเทรา

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สมพร เพ็งค่ำ

             เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 16.00 น. ที่สำนักงานนโยบายและแผนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) มีมติไม่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 3 จำกัด ที่ยื่นขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากชีวมวลเป็นถ่านหินเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่ คชก. มีมติไม่เห็นชอบมาแล้วตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยชุมชนเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา จะประสานขอมติอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป
              

              ตัวแทนชุมชนเขาหินซ้อนและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ให้รายละเอียดของการประชุมว่าบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 3 จำกัด ยังคงให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบว่าวัตถุดิบไม่เพียงพอ และความร้อนไม่เสถียร โดยจะขอใช้พลังงานถ่านหิน 25% เป็นวัตถุดิบหลักร่วมกับชีวมวล และที่เพิ่มเข้ามาในครั้งนี้ คือขอใช้น้ำมันใช้แล้วมาเผาร่วมเป็นวัตถุดิบเสริม

              ในขณะที่ 15 ปี ที่ผ่านมาของการดำเนินกิจการของโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงนี้ ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์เกษตรกรชาวสวนมะม่วงรอบโรงไฟฟ้าต้องล้มสวน แม้ในปัจจุบันก็ยังมีการล้มสวนมะม่วงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากสถิติที่นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ คชก. มีมติไม่เห็นชอบครั้งที่2 ของโรงไฟฟ้านี้แล้ว ก็ยังพบการล้มสวนมะม่วงเพิ่มขึ้นไปอีกกว่า 500 ไร่ นอกจากนั้นแล้ว ชุมชนที่อยู่ติดโรงไฟฟ้า ยังให้ข้อมูลว่าโรงไฟฟ้าโรงนี้ยังปล่อยมลพิษเกิดผลกระทบต่อบ่อเลี้ยงปลาชาวบ้าน “ของเก่าที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติยังแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านไม่ได้ แล้วจะให้เปลี่ยนเป็นถ่านหิน ชาวบ้านตาดำๆไม่ตายกันหมดหรือ” ผู้นำชุมชนกล่าว
ปรากฏการณ์นี้ยังสะท้อนว่า โรงไฟฟ้านี้ไม่มีระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่ดี เมื่อมีเรื่องร้องเรียนจากผลกระทบแล้ว ยังแก้ปัญหาให้ชาวบ้านไม่ได้ อีกทั้งโรงไฟฟ้ายังละเลยต่อระบบการติดตามผลกระทบ เห็นได้จากมาตรการในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าได้ปฏิบัติตามที่ได้กำหนดไว้ คือการตรวจสอบการปล่อยสารพิษบริเวณปากปล่องโรงไฟฟ้า ด้วยระบบบันทึกข้อมูลแบบต่อเนื่อง (CEMs) และส่งผลแบบออนไลน์ให้หน่วยงานอนุญาตทราบ ซึ่ง คชก. เคยให้โรงไฟฟ้าปรับปรุงตั้งแต่การพิจารณาอีไอเอในรอบแรกและรอบสอง แม้ในรอบนี้ โรงไฟฟ้าเองได้ตอบคำถามหลังจากถูกซักถามจากผู้แทนชุมชนว่าจะดำเนินการในปลายปีนี้ ซึ่งแปลได้ว่า ยังไม่ได้ดำเนินการก่อนยื่นอีไอเอให้ คชก.พิจารณาในรอบนี้

              ด้านเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ยังกังวลว่ามลพิษจากถ่านหินจะทำให้ผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ตกค่ามาตรฐานสากล ที่ได้รับจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งการได้มาตรฐานนี้ชาวบ้านต้องใช้เวลาฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคมานานนับ 30 ปี รวมถึงการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าอาจจะทำให้น้ำในลุ่มน้ำคลองท่าลาดไม่เพียงพอต่อการไปเลี้ยงระบบนิเวศของลุ่มน้ำ

              นอกจากนี้ยังพบว่าชาวบ้านในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าบางส่วนไม่ได้รับเอกสารแจ้งการเปลี่ยนแปลงโครงการ หรือข้อมูลหลักฐานว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงจากชีวมวลเป็นถ่านหิน รวมถึงไม่เคยได้รับการประสานเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นมาก่อน
               คชก.พิจารณา ทำให้มีข้อมูลในการเจรจาที่ไม่เท่ากัน การแย้งข้อมูลโรงไฟฟ้าจึงเป็นไปด้วยวาจา ไม่มีหลักฐานเอกสารอ้างอิง อีกทั้งมีเวลาน้อยมากในการเตรียมข้อมูลให้ คชก.พิจารณา เนื่องจากเพิ่งรู้ว่าจะมีการพิจารณาครั้งที่ 3 นี้ เพียง 1-2 วันก่อนการพิจารณา ซึ่งชุมชนคาดหวังให้ สผ.และ คชก. แจ้งให้ผู้ที่เคยแสดงตนคัดค้านได้ทราบว่าจะมีการพิจารณาอีไอเอ ทุกครั้งและทันทีที่มีการยื่นให้พิจารณา

ขอขอบคุณข้อมูลจากตัวแทนชุมชนเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม กัญจน์ ทัตติยกุล โทร. 081 6494224