แหล่งอาหาร หรือ บ้านอุตสาหกรรม: แม่น้ำบางปะกงจะไปทางไหน?

 

เรื่อง ปิยกุล ภูศรี

ภาพ Memory Studio  (https://www.facebook.com/media/set/?set=a.671562389578979.1073741833.416759158392638&type=1)

 

 “ฝั่งชายน้ำบางปะกง ยามแสงอาทิตย์อัสดง ใกล้จะค่ำลงแล้วหนา 

แต่บางปะกงนั้นยังคงสวยงามตา คราใกล้สนธยา ยิ่งพาให้เราสุขสันต์”


       บางท่อนบางตอนจากเพลง ‘บางปะกง’ ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ถ่ายทอดบรรยากาศริมสายน้ำบางปะกงยามพระอาทิตย์ตกที่สวยงามและสงบเยือกเย็นได้อย่างไพเราะ ชวนให้ผู้ฟังได้นึกถึงแสงตะวันขลิบริมขอบฟ้าในยามเย็น สายลมพัดฉิวของเมืองปากแม่น้ำ และความเขียวชะอุ่มของป่าชายเลนที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ในแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นระบบแม่น้ำที่ร่ำรวยด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศสายหนึ่งของประเทศไทย
       แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกตอนบนกำลังขยับเข้ามาประชิดดินแดนลุ่มแม่น้ำบางปะกงมากขึ้นทุกที และในเวลาอันใกล้นี้ ชาวลุ่มแม่น้ำบางปะกงอาจจะต้องตัดสินใจว่าจะเดินไปทางไหน ระหว่างการคงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำบางปะกงให้ยังคงเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ทั้งแหล่งอาหารบนพื้นดินและในน้ำ หรือ จะเดินหน้าสู่การพัฒนาโดยการเปิดรับการลงทุนขนาดใหญ่จากภาคอุตสาหกรรม

       ภาคีร่วมผลักดันแม่น้ำบางปะกงเป็นแรมซาร์ไซต์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคณะทำงาน กลุ่มประชาสังคม และคนทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมภาคเอกชนหลายส่วน ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้แม่น้ำบางปะกงได้รับการขึ้นทะเบียนใน ‘แรมซาร์ไซต์’ (Ramsar Site) โดยอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ อนุสัญญาแรมซาร์ เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเพื่อการอนุรักษ์และยับยั้งการสูญเสียการสูญเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งทางภาคีร่วมผลักดันแม่น้ำบางปะกงเป็นแรมซาร์ไซต์ได้จัดงาน “เพราะอะไรเราถึงต้องผลักดันแม่น้ำบางปะกงเป็นแรมซาร์ไซต์” เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโชคอนันต์ ชั้น 2 อาคารเรียนรวม ม.ราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อกระตุ้นให้คนในลุ่มน้ำบางปะกงและสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำบางปะกงในฐานะพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น

       หาญณรงค์ เยาวเลิศ คณะอนุกรรมการวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ เรายืมคำมาจากภาษาอังกฤษว่า wetland แปลตรงตัวคือพื้นที่ที่มันเปียกน้ำ พื้นที่ที่น้ำท่วมถึง มีน้ำขัง ซึ่งรวมทั้งพื้นที่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น ก็รวมไปถึง ป่าชายเลน ป่าชายหาด ไปจนถึงพื้นที่หลังเขื่อน ในประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำคิดเป็น 7-8% ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นบัญชีในระดับชาติประมาณร้อยกว่าแห่ง แต่พื้นที่ขนาดเล็กอย่างหนองน้ำ บึงน้ำ รวมแล้วมีประมาณ 19,295 แห่ง ซึ่งได้มีการประชุมกันเพื่อกำหนดกรอบการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่เมืองแรมซาร์ (Ramsar) ประเทศอิหร่าน ทำให้มีอนุสัญญาแรมซาร์ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 โดยพื้นที่ชุ่มน้ำมีประโยชน์ในการเป็นแหล่งวางไข่ที่ของสัตว์น้ำ เป็นระบบนิเวศเฉพาะที่มีความสำคัญเพราะมีสัตว์และพืชที่เติบโตและอยู่อาศัยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งซับน้ำ คือเป็นเขตป้องกันน้ำท่วม และเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง”

       ศักดา ทองประสิทธิ์ ประธานคณะทำงานผลักดันแม่น้ำบางปะกงเป็นแรมซาร์ไซต์ กล่าวถึงห่วงโซ่ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำบางปะกงที่ส่งผลกระทบกับหลายระบบว่า “แม่น้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำที่มีความเชื่อมโยงกับสี่จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา มีอุทยานแห่งชาติมากมาย เป็นระบบแม่น้ำที่มีความหลากหลาย ทั้งระบบนิเวศต้นน้ำ ระบบนิเวศป่า ระบบนิเวศของเมือง ไปจนถึงวัฒนธรรมที่อยู่ในลุ่มน้ำนี้ ซึ่งมันเชื่อมโยงกันหมด เราไม่สามารถตัดแม่น้ำออกเป็นก้อนๆ ได้ เราจึงต้องบริหารจัดการโดยเชื่อมโยงทุกแหล่งเข้าด้วยกัน เมื่อก่อนผู้คนยังน้อย ทำให้แม่น้ำมีความสมดุล ในหนึ่งปี เฉพาะที่ฉะเชิงเทรา น้ำเค็มจะเข้ามาไม่เกิน 2-3 เดือน แต่ปัจจุบันนี้ เฉพาะที่ อ.บ้านโพธิ์ เก้าเดือนมาแล้วที่น้ำยังไม่จืดเลย เพราะเราดึงน้ำจืดขึ้นไปใช้เยอะ อิทธิพลของน้ำทะเลก็ผลักดันเข้ามาเนื่องจากบางปะกงเป็นแม่น้ำที่แบนราบ มีความคดเคี้ยวมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อเราดึงน้ำจืดมาใช้มากน้ำเค็มก็จะทะลักเข้ามาเลย พอระบบนิเวศมันเปลี่ยนไป ก็ส่งผลกระทบกับชีวิตของคน พื้นที่ชุ่มน้ำต้นแม่น้ำบางปะกงถูกคุกคาม น้ำที่เคยมีที่อยู่กลับมีผู้คนไปอยู่แทน ก็ส่งผลให้น้ำท่วมตั้งแต่ปราจีนบุรีมาจนถึงฉะเชิงเทรา ปลาตัวใหญ่ ในแม่น้ำบางปะกงก็หายไปมาก ซึ่งสมัยก่อนมีมากมาย นี่เป็นเพราะระบบนิเวศมันถูกทำลายไปเรื่อย เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงระหว่างการดึงน้ำขึ้นไปใช้และการปล่อยน้ำเสียกลับลงสู่แม่น้ำ มันกระทบเป็นลูกโซ่ไปหมด”

       ด้าน นิรวาน พิพิจสมบัติ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงกระบวนการในการผลักดันให้แม่น้ำบางปะกงได้รับการขึ้นทะเบียนในแรมซาร์ไซต์ว่า “การขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ เราต้องผ่านคณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ ผ่านคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี ถ้าบางปะกงทำแผนและต้องการผลักดันไปถึงคณะรัฐมนตรี สผ. ก็จะทำให้ในส่วนนี้ ให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีนี้จะเป็นสิ่งที่หน่วยราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแม่น้ำบางปะกงเอาไปใช้ในการของบประมาณเพื่อการทำงาน หรือภาคเอกชนก็สามารถเอาไปใช้ขอทุนสนับสนุนจากที่อื่นได้ ซึ่งการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในแรมซาร์ไซต์จะเป็นเครื่องมือที่เราจะใช้ในการผลักดันเรื่องอื่นๆ ที่เราจะทำกับบางปะกง เป็นเครื่องมือป้องกันโครงการที่เราไม่อยากได้ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ ถ้าทำแล้วจะต้องบัญญัติข้อกำหนดอะไรขึ้นมาใหม่หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพวกท่านว่าอยากให้มีหรือไม่ เนื่องจากอนุสัญญาไม่ได้กำหนดว่าจะต้องทำอะไร”

       อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หรืออนุสัญญา แรมซ่าร์ เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเพื่อการอนุรักษ์และยับยั้งการสูญเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน พื้นที่ชุ่มน้ำในทีนี้หมายถึงที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังน้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้ง ชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มรวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและในทะเลบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร 

       อนุสัญญานี้ไม่สามารถละเมิดอธิปไตยของประเทศสมาชิกได้ ข้อสำคัญประการหนึ่งคือประเทศสมาชิกสามารถเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำภายในประเทศของตนไปขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไชต์ (Ramsar Site) ได้ โดยมีเกณฑ์สำหรับกำหนดพื้นที่เป็นแรมซาร์ไซต์ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่ม A พื้นที่ชุ่มน้ำที่หายากและมีลักษณะเฉพาะ และกลุ่ม B พื้นที่ชุ่มน้ำสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

       โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2541 ประเทศได้เข้าร่วมลงนามเป็นภาคีลำดับที่ 110 และในปี 2543 ประเทศไทยเริ่มจัดทำทะเบียนพื้นที่ชุมน้ำแบ่งความสำคัญเป็น 3 ระดับ คือ 1. พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ 2. พื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ 3. พื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น และแม่น้ำบางปะกงได้รับการจัดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ

       การผลักดันให้แม่น้ำบางปะกงได้รับการขึ้นทะเบียนในอนุสัญญาแรมซาร์ไซต์จึงต้องการความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม ที่ต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำบางปะกงในการดำเนินชีวิต เพราะพวกเราทุกคนคือผู้กำหนดชะตากรรมของแม่น้ำบางปะกงร่วมกัน และแม่น้ำบางปะกงก็จะย้อนกลับมากำหนดชีวิตของคนในลุ่มแม่น้ำด้วยการกระทำของพวกเราเองเช่นกัน