สามนักวิชาการไทย ร่วมนำเสนอผลงานในการประชุม IAIA15: Impact Assessment in the Digital Era

สามนักวิชาการไทย ร่วมนำเสนอผลงานในการประชุม IAIA15

: Impact Assessment in the Digital Era

            เมื่อวันที่ 20-23 เมษายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุม IAIA15: Impact Assessment in the Digital Era หรือการประชุม IAIA ขึ้น ณ Firenze Fiera Congress & Exhibition Center เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี IAIA เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่มีประเทศสมาชิกกว่า 120 ชาติ มีจุดมุ่งหมายในการแสวงหามาตรการที่ดี (Best practices) ของการประเมินผลกระทบ (Impact Assessment – IA) เพื่อให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบาย แผนงาน และโครงการต่างๆ ที่ถูกต้องเหมาะสม โดยการประชุมในครั้งนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 35
          ประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ได้ส่งตัวแทนนักวิชาการสามท่านไปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้กับนักวิชาการนานาชาติ ได้แก่ ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช และ ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์
ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ผมได้ไปนำเสนอโปสเตอร์เรื่องการประเมินผลกระทบสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีผู้สนใจพอสมควร เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ข้อสังเกตที่น่าสนใจบางประการจากการประชุมในครั้งนี้ก็คือ แม้โครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมืองจะมีจำนวนน้อย แต่จะเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบมาก เพราะมันไปกระทบกับคนจำนวนมาก คนงานก่อสร้างก็ทำงานยากตามไปด้วย วิธีการในการลดผลกระทบก็คือ ต้องพยายามลด uncertainties ในการประเมินผลกระทบ และอาจจะต้องมีการกำหนดกฎหรือข้อบังคับเป็นพิเศษเฉพาะโครงการที่อาจส่งผลกระทบ หากจำเป็น ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกข้อก็คือ ในสหราชอาณาจักร มี Equality Act และ Equality IA แต่ไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายในเรื่องการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หากเทียบกันแล้วก็อาจจะบอกได้ว่าในเรื่องของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของประเทศไทยก้าวหน้ากว่าสหราชอาณาจักร”
          “ข้อเสนอแนะที่คิดว่าน่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบในประเทศไทยก็คือ เรายังไม่มีสำนักงาน IAIA ในประเทศ ซึ่ง สช. อาจจะพิจารณาสมัครเป็นสมาชิก IAIA และรับเป็นสำนักงาน IAIA สำหรับประเทศไทยไปเลย ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีคนไทยที่เป็นสมาชิกของ IAIA หลายคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเอกชน และในปัจจุบัน การประเมินผลกระทบก็แตกแยกย่อยออกไปอีกเป็นจำนวนมาก เช่น inequity IA หรือ territorial IA เป็นต้น ดังนั้น สช. จึงควรเป็นผู้นำในการใช้คำว่า การประเมินผลกระทบ เข้าไปจับกับเรื่องต่างๆ มากขึ้น และอยากเสนอว่า ในการนำเสนอการประเมินผลกระทบควรจะออกมาในรูปแบบของสื่อผสมมากขึ้น เช่น การใช้ infographic เพราะจะช่วยให้คนที่ไม่รู้ข้อมูลมาก่อนเลยมีความเข้าใจในเนื้อหามากได้ง่ายและมากขึ้น และจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายกว่ารูปแบบการนำเสนอในปัจจุบันที่มักจะเป็นข้อมูลตารางและกราฟเป็นส่วนมาก แต่ก็มีข้อควรระวังคือสมองมีแนวโน้มจะเชื่อภาพ หรือ แผนที่ หรือ ภาพเคลื่อนไหว มากกว่าข้อความ ความถูกต้องของข้อมูลและข้อเท็จจริงที่นำเสนอจึงยังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
                    ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ผมได้ไปนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านวาจา (Oral presentation) ในหัวข้อเกี่ยวกับการทำเหมืองในประเทศไทย (Impact Assessment for Mining in Thailand: Problems and Solutions) ว่าผลกระทบของกิจกรรมเหมืองแร่ที่ผ่านมาและปัจจุบันของประเทศไทยทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นอย่างไร ตลอดจนผลกระทบของการประเมินผลกระทบที่ผ่านมา (Impacts of impact assessment) รวมทั้งการเสนอทางออกสำหรับปัญหาที่พบ”
“ทางออกหนึ่งที่ผมนำเสนอ คือ การใช้เครื่องมือระบาดวิทยาภาคประชาชน (Popular epidemiology) ในการควบคุมกำกับโครงการ ที่สามารถดำเนินการได้เองโดยภาคประชาชน อันเป็นส่วนหนึ่งของ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน” (Community-driven Health Impact Assessment-CHIA) ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพให้ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นชุมชนสามารถทำการประเมินผลกระทบได้ด้วยตนเอง หลังจากการนำเสนอผลงาน ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้เข้าร่วมการประชุม โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมประชุมจากเนเธอร์แลนด์ที่กล่าวว่าในการประชุม IAIA ครั้งต่อไปควรจะแยกหัวข้อเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนออกมาอีกห้องหนึ่งเลย เพราะในการประชุมครั้งนี้แทบจะไม่มีการพูดถึงหัวข้อนี้เลย”
           “เนื้อหาในการประชุมครั้งนี้ค่อนข้างจะยากและหนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการประเมินผลกระทบในประเทศไทยคือ การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมินผลกระทบให้มีประสิทธิภาพ เช่น ข้อมูลจากดาวเทียม จะทำให้การประเมินผลกระทบมีความถูกต้อง แม่นยำมากยิ่งขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมินผลกระทบก็เป็นประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้ด้วย ซึ่งในการประชุม IAIA ครั้งต่อไป ประเทศไทยควรคำนึงถึงเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพราะจากการประชุมครั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนมีแนวโน้มไปในทิศทางนี้”
           “สิ่งที่ผมประทับใจในการประชุมครั้งนี้และคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับการทำงานในประเทศไทยคือการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน (Networking) เช่น ประเทศในสหภาพยุโรปสามารถรวมตัวกันออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าการดำเนินโครงการอะไรบ้างที่ต้องทำการประเมินผลกระทบ ในขณะที่เรากำลังจะเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ประเทศไทยก็ควรจะมีข้อบังคับในเรื่องการประเมินผลกระทบร่วมกับประเทศในอาเซียนด้วย และควรผลักดันให้มีข้อบังคับในการประเมินผลกระทบร่วมกันในระดับอาเซียนเหมือนประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งผมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำเรื่องการประเมินผลกระทบในกลุ่มประเทศอาเซียน”
               ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “ผมได้ไปนำเสนอผลงานที่ได้ทำร่วมกับชุมชนคือ การใช้ระบบการประเมินการสัมผัสแคดเมียมผ่านการบริโภคอาหารโดยให้ชุมชนทำการประเมินตนเอง และเก็บเป็นข้อมูลของตนเอง ว่าอาหารที่ชาวบ้านกินเข้าไปแต่ละวันนั้นมีความเสี่ยงกับการรับสารแคดเมียมในระดับไหน ซึ่งเป็นโรงการที่ผมทำร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในน้ำ ดิน และอาหาร ถึงแม้ว่าฝ่ายจัดงานจะจัดให้ไปนำเสนอผลงานผิดห้องไปซักหน่อย คือเป็นห้องที่นำเสนอผลงานเรื่องการมีส่วนร่วม (Participation) ซึ่งจริงๆ แล้วผลงานชิ้นนี้ควรจะถูกนำเสนอในห้องที่เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment – HIA) ทำให้คนที่เข้าไปฟังหลายคนที่ไม่รู้เรื่องมาก่อนก็จะงงๆ นิดหน่อย แต่ก็ถือว่านำเสนอไปด้วยความราบรื่นดี”
             “แนวทางแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพที่ผมได้นำเสนอในห้องประชุม ผมชี้ให้เห็นว่าจะต้องมีการจัดทำฐานข้อมูล (database) ที่เป็นระบบ โดยชุมชนจะต้องมีศูนย์ข้อมูลเป็นของตัวเอง และดำเนินการวิจัยหาข้อมูลโดยชุมชน สร้างงานวิจัยด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ของชุมชน”
          “จากการได้ดำเนินโครงการการใช้ระบบการประเมินการสัมผัสแคดเมียมผ่านการบริโภคอาหารขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ปัจจุบัน เราได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลและวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนลุ่มน้ำแม่ตาว” ขึ้น โดยได้รับการอนุมัติให้ใช้สถานที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุผาแดง ซึ่งการดำเนินโครงการของเราก็ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ โดยอาศัยงบประมาณจากภาคส่วนต่างๆ มาเป็นตัวสนับสนุนโครงการ เรายังสร้างข้อมูลจากชุมชนเพื่อจะได้นำไปใช้ในการประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบครั้งแรกในประเทศไทยที่จะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนเรศวรในปลายปีนี้อีกด้วย”