ชวนกันไปให้ถึง “เขตเศรษฐกิจเพื่อสังคมและชีวิตที่ดีถ้วนหน้า”


HIA in Thailand – ชวนกันไปให้ถึง “เขตเศรษฐกิจเพื่อสังคมและชีวิตที่ดีถ้วนหน้า”






               

              ชวนกันไปให้ถึง “เขตเศรษฐกิจเพื่อสังคมและชีวิตที่ดีถ้วนหน้า”

          ในปี พ.ศ.2558 ที่เพิ่งผ่านมานี้ รัฐบาลไทยได้มีคำสั่งแต่งตั้งลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2558 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้ประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้วทั้งสิ้น 10 จังหวัดตามแนวชายแดน คือ ตาก มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี รวมพื้นที่ 1,832,480 ไร่ มีเป้าหมายเพื่อสร้างฐานการผลิตเพื่อเชื่อมโยงกับอาเซียนและพัฒนาเมืองชายแดน โดยใช้ 4 กลยุทธ์สำคัญ คือสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุน SMEs และการลงทุนต่อเนื่องของไทยและจัดระเบียบพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน
                   จากนโยบายนี้สร้างความกังวลถึงผลเชิงบวกและลบที่อาจจะเกิดขึ้น และพบความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐ ทำให้ตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ที่มีการขับเคลื่อนประเด็น “สุขภาวะชายแดน” (Border Health) ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ร่วมกับเครือข่ายติดตามการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดเวทีถกแถลงต่อนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างกว้างขวาง
       อะไรคือความขัดแย้งในพื้นที่และจะนำไปสู่การคลี่คลายเรื่องราวเหล่านี้ให้กลายเป็นประโยชน์ร่วมได้อย่างไร ในการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา จึงได้มีการจัดเสวนาวิชาการว่าด้วย “เขตเศรษฐกิจเพื่อสังคมและชีวิตที่ดีถ้วนหน้า” เพราะเห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องของสาธารณะจึงเห็นควรให้มีพื้นที่ในการพูดคุยของทุกฝ่ายอย่างแท้จริงและอาจจะเป็นการพัฒนาไปสู่มติร่วมกันในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในโอกาสต่อไป
             ในส่วนของคุณพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ได้ชี้ชวนให้เห็นว่าประชาชนคนไทยสามารถรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายหรือเจตนารมย์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มุ่งมั่นจะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับคนระดับล่างด้วย และเป็นเรื่องที่สามารถเป็นไปได้จริงแต่ต้องดึงการมีส่วนร่วมจากทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม รวมถึงการคิดเป็นระบบ เช่น สร้างกลไกสหกรณ์ขึ้นมาเสริม ดึงศักยภาพทุนท้องถิ่น พร้อมเสนอต้นแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจภูมินิเวศวัฒนธรรม เขตเกษตรภูมินิเวศ เป็นต้น

               

                   นอกจากนี้ได้อ้างอิงแนวคิด “ซูปเปอร์คลัสเตอร์” ของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่นำเสนอ คลัสเตอร์แบบชุมชน เช่น คลัสเตอร์เชิงนิเวศ “สามสวรรค์ สามน้ำ สมสมุทร” เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านสัตว์น้ำ ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี นครนายก โดยรัฐเข้าไปสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานฟาร์ม การแปรรูป การตลาด หรืออาจรวมถึงคลัสเตอร์ข้าวอินทรีย์ โดยระบุว่าแนวทางนี้จะเป็นหนทางที่เกาะเกี่ยวและกระจายผลประโยชน์สู่ประชาชนฐานรากอย่างแท้จริง

       ในส่วนของ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตที่ว่า อาจจะประสบความสำเร็จได้ยากเพราะขาดยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน และจะเกิดประโยชนกับชุมชนท้องถิ่นได้มากน้อยแค่ไหน แม้ว่าการเข้าไปอยู่ในเขตฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ไม่ต้องเสียภาษี 8 ปี ลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี และนโยบายนี้ไม่ควรเอื้ออุตสาหกรรมเข้มข้นที่ใช้แรงงานราคาถูก เพราะเมื่อเทียบแล้วประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างสูงกว่าเพื่อนบ้าน
                 นอกจากนี้ยังแนะว่าควรปรับเป็น “เขตนวัตกรรมพิเศษ” ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตที่มูลค่าเพิ่มสูง ตลาดจนอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้ความรู้ เช่น อนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าวที่มีฝีมือขั้นสูง ให้ต่างชาติถือครองที่ดินเพื่อสร้างมหาวิทยาลัย สนับสนุนบริษัทภายในประเทศย้ายฐานการผลิตที่มูลค่าเพิ่มต่ำไปยังเพื่อนบ้าน ยกระดับการผลติภายในประเทศสู่การผลิตที่มูลค่าเพิ่มสูง ตลอดจนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตลอดจนศูนย์บริการเบ็ดเสร็จของจังหวัดชายแดนเพื่อรองรับความเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและเพื่อนบ้าน
                ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของ ดร.สมนึก จงมีวศิน จากเครือข่ายเพื่อนตะวันออก เสนอแนะว่ารัฐบาลควรทำการประเมินยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ก่อนที่จะประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะยุทศาสตร์สิ่งแวดล้อมของพื้นที่ เพื่อพิจารณาความพร้อม ความเหมาะสม และไม่ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น บางพื้นที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวก็ไม่ควรมีโรงงานอุตสาหกรรมที่จะตามจากการประกาศเขตนี้ หรือตัวอย่างกรณีของจังหวัดตากซึ่งถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 2,000 กว่าไร่ ทำให้ที่ดินบริเวณใกล้เคียงถีบตัวสูงขึ้นมาก เกิดปัญหาประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านไม่น้อยกว่า 97 ครัวเรือนและขาดมาตรการชดเชยเยียวยาที่ชัดเจน จนทำให้เกิดการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นการพัฒนาที่จะลงไปครั้งนี้ควรมองให้เห็นและฟังให้ชัดว่าคนในพื้นที่ต้องการการพัฒนาแบบใดด้วย