ขานรับ HIA ฉบับใหม่ สช. วางกรอบนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะชุมชน

 ขานรับ HIA ฉบับใหม่ สช. วางกรอบนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะชุมชน

                สช. เริ่มขับเคลื่อนประกาศ HIA ฉบับใหม่ มุ่งเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมประเมินผลกระทบจากนโยบายสาธารณะได้มากขึ้น สตาร์ทอัพจากโครงการก่อสร้างท่าเรือริมแม่น้ำบางปะกง พร้อมดำเนินการเชิงรุกให้ทุกหน่วยงานประยุกต์ใช้เพื่อก้าวไปสู่ “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” มั่นใจช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้

                      สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ เรื่อง “สตาร์ทอัพ ประกาศ HIA ฉบับใหม่ : ใครได้ ใครเสีย” เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ โถงหน้าห้องประชุมสานใจ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี

                      นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA (Health Impact Assessment) เป็นกระบวนการตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่สนับสนุนให้เกิดสุขภาวะที่ดีและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลผลกระทบต่างๆ ทั้งในเชิงบวกและลบ จากนโยบายสาธารณะ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการดำเนินงาน ร่วมสร้างทางเลือกในการพัฒนาหรือการจัดการพื้นที่ ร่วมตัดสินใจอย่างสมานฉันท์ ตลอดจนร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลในระยะยาวต่อไป

                      “ขณะนี้ ทุกภาคส่วนในสังคมมีความตื่นตัวและเข้าใจในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพมากขึ้น หลังจากที่หลักเกณฑ์ HIA มีผลบังคับใช้มากว่า ๗ ปี ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันทางวิชาการ/วิชาชีพ ต่างเห็นตรงกันว่า กระบวนการ HIA ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีเวทีกลางที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล ช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ นำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน เพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชน”

                      นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะ แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ตลอดจนการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงได้ปรับปรุง ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ ๑ ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบททางสังคม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่มุ่งสู่สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันมากยิ่งขึ้น พร้อมปรับปรุงโครงสร้างการทำงาน การผลิตบุคลากร ให้สอดรับกับหลักเกณฑ์วิธีการใหม่นี้ด้วย

                      “ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงาน องค์กรต่างๆ สามารถนำประกาศหลักเกณฑ์ HIA ฉบับใหม่ไปประยุกต์ใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมได้ โดยคำนึงถึงประเด็นผลกระทบทางสุขภาพในทุกมิติภายใต้กรอบปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ในทุกนโยบาย หรือที่เรียกว่า Health in all policies”

                      นพ.วิพุธ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะลงไปผนึกกำลังร่วมมือกับหน่วยงานผู้กำหนดโยบายและภาคส่วนต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการนำหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศ HIA ฉบับที่ ๒ ไปประยุกต์ใช้มากขึ้น โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการใช้แล้วในเรื่องการศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาภายในประเทศจากโครงการศึกษาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือ TPP ที่เป็นการทำ HIA ในระดับนโยบาย ในส่วนของ HIA ระดับโครงการก็ได้มีการประยุกต์ใช้ในหลายโครงการที่มีการร้องขอตามมาตรา ๑๑ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เช่น โครงการท่าเทียบเรือ โครงการเหมืองแร่ โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ 

                      ดร.เดชรัต สุขกำเนิด มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า เนื้อหาในประกาศ HIA ฉบับที่ ๒ เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและประโยชน์ร่วมกัน โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะดำเนินการใน เชิงรุก มากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มนโยบายสาธารณะหรือโครงการ ด้วยการ ก่อขบวน ชักชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียมาออกแบบและวางแผนการทำ HIA เพื่อให้เกิดการยอมรับผลร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้มีการตัดสินใจไปแล้วจึงประเมินผลกระทบเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงเมื่อมีข้อร้องเรียนในระหว่างที่ดำเนินโครงการ และ/หรือเมื่อแล้วเสร็จ ก็สามารถจัดทำ HIA ได้เช่นเดียวกัน

                      “ปัญหาของ HIA ฉบับเดิม คือ หลายภาคส่วนต่างฝ่ายต่างดำเนินการ จึงมีการก่อรูปโครงสร้างใหม่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการกำหนดนโยบาย แผนงานต่างๆ ให้เกิดการยอมรับ เปิดรับข้อมูลรอบด้าน ทั้งด้านของผู้พัฒนาโครงการและของชุมชน อย่ามองว่าแข็งหรือผ่อนปรนมากขึ้น เพราะ สช. ไม่มีอำนาจในการบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการนำหลักเกณฑ์ HIA ไปประยุกต์ใช้ ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน ให้เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์ต่อนโยบายโดยภาพรวม”

                      นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง กล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังศึกษาศักยภาพของชุมชนและผลกระทบที่อาจจะเกิดจากโครงการโกดังและท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าริมแม่น้ำบางปะกง และจากการศึกษาโดยกระบวนการเอชไอเอ พบว่า แม่น้ำบางปะกงที่เป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างอาชีพต่อเนื่องที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยบางครอบครัวไม่ต้องไปประกอบอาชีพที่อื่นเลยเพราะแม่น้ำเลี้ยงพวกเขาได้ เช่น อาชีพประมงชายฝั่งที่หาอยู่หากินด้วยอุปกรณ์ประมงพื้นบ้าน เช่น ซั่ง โป๊ะ ก่ำ มีป่าจากและอาชีพทำตับจาก ขุดปูทะเล เลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำ ล่องเรือท่องเที่ยว และยังพบป่าโกงกางและค้างคาวแม่ไก่ริมน้ำอีกด้วย ซึ่งหากแม่น้ำบางปะกงเปลี่ยนแปลงย่อมกระทบต่อพวกเขาอย่างแน่นอน

                      “การทำ HIA ครั้งนี้ มีทีมงานที่เป็นชาวบ้านและคนในชุมชนทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหัวใจหลักของการประเมินครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างการพัฒนาแม่น้ำบางปะกงอย่างยั่งยืน”

                      รศ.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือมีโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา ได้นำกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไปใช้ในพื้นที่บริเวณ นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และความร่วมมือจากชาวบ้านใน ๔ ตำบลรอบนิคมฯ ได้แก่ บ้านกลาง มะเขือแจ้ เหมืองง่า และเวียงยอง โดยมี การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community-Based Health Impact Assessment-CHIA) และ เครื่องมือระบาดวิทยาภาคประชาชน (Popular epidemiology) เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น ประยุกต์ใช้ในการประเมินความเชื่อมโยงระหว่างต้นเหตุของปัญหากับภัยคุกคามสุขภาพที่เกิดขึ้นใน ๔ ตำบลร่วมกัน ส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้าใจ รับรู้ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ เช่น โรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และหอบหืด ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่กิจกรรมของชาวบ้านเองก็มีส่วนด้วย เช่น การเผาไม้-หญ้าแห้ง โรงงานเฟอร์นิเจอร์ในชุมชน ยาฆ่าแมลง โรงสีข้าว การเผาศพ การใช้สารเคมีในสวนลำไย การล้างถังสารเคมีจากนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

                      “การดำเนินการในครั้งนี้ ให้ ชุมชนได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน กำหนดประเด็นปัญหา หาสาเหตุ ตรวจสอบ การทดสอบในห้องปฎิบัติการ นำเสนอแนวทางแก้ไข มีการอบรมเรื่องระบาดวิทยา ประกอบกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ความจริง ทำให้ชาวบ้านถึงเข้าใจผลกระทบดีขึ้น เรียนรู้ถึงสาเหตุอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงแต่โทษคนอื่น ไม่ใช้อคติ หรือความรู้สึกในการตัดสินเหมือนในอดีต”

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143