สช.จัดประชุมวิชาการเอชไอเอชุมชนครั้งแรกของโลก ระบุเป็นเครื่องมือใหม่พัฒนาอนาคตชุมชนได้อย่างยั่งยืน

คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมวิชาการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2555 ในหัวข้อ เอชไอเอชุมชนสร้างอำนาจทางปัญญา ในการกำหนดอนาคตตนเองและสังคม ณโรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยเครือข่ายภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการเอชไอเอ โดยชี้ให้เห็นว่าสุขภาพเป็นเรื่องกว้างมากกว่าหมอกับยาเท่านั้น แต่หมายถึงสุขภาวะทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ และสังคมที่เป็นองค์รวมของบุคคล ครอบครัว และชุมชน ซึ่งระบุไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ที่เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2540 มีแนวคิดในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและได้ออกแบบเครื่องมือและกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมไว้หลายชนิด

ซึ่งเอชไอเอได้ถูกใช้มาเป็นเครื่องมือหรือกระบวนการคาดประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะและจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะที่ดี และเอื้อต่อสุขภาพ ลดและป้องกันผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพ ซึ่งข้อมูลทางด้านบวกและลบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายสาธารณะ เอชไอเอจะเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเพื่อช่วยกันเสนอและกำหนดทางเลือกเกี่ยวกับการดำเนินกิจการต่างๆ ที่ไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชนและชุมชน พร้อมกันนี้เอชไอเอไม่ใช่เครื่องมือที่ขัดขวางการพัฒนาแต่เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ช่วยทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและยั่งยืน เกื้อหนุนทุกฝ่าย ไม่ใช่เป็นการพัฒนาแบบฉาบฉวย ที่มีคนได้มากเสียมาก อันมีผลทำให้คนเกิดความทุกข์ ชุมชนและสังคมล่มสลาย
 

นพ.อำพล กล่าวต่อว่า กระบวนการเอชไอเอถูกบรรจุไว้ในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ โดยมีแนวคิดที่มุ่งการสร้างกระบวนการใหม่สำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่เน้นการมีส่วนร่วมและเน้นการทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่แนวคิดการใช้อำนาจบังคับ หรือการใช้อำนาจอนุมัติอนุญาตใดๆ ที่มีอยู่เดิมตามแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเมื่อมองรวมกันจะเห็นได้ชัดเจนว่า เอชไอเอเป็นเครื่องมือและกระบวนการที่มีคุณค่าใน 4 มิติ คือ 1.เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ 2.เป็นการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม 3.เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม ผ่านการปฏิบัติและพัฒนาไปพร้อมกัน 4.เป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนและสังคม เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสและช่องทางให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะในทุกขั้นตอน ซึ่งกระบวนการทั้ง 4 มิตินี้ จะต้องมีการส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะพัฒนากระบวนการนี้ทั้งแนวความคิด กลไก เทคนิค วิชาการ องค์ความรู้ บุคลากร เพื่อการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น

“เอชไอเอชุมชนเป็นความงามและความหวังหนึ่งในการพัฒนาประเทศตามกระแสหลัก ที่คนมีโอกาสมากได้มาก คนมีโอกาสน้อยได้น้อย หรือเสียมาก เอชไอเอชุมชนจะช่วยเสริมสร้างปัญญาให้กับชุมชนท้องถิ่น ให้รู้เท่าทันการพัฒนาต่างๆ จนถึงขั้นที่จะสามารถตัดสินใจหรือร่วมตัดสินใจเพื่อกำหนดอนาคตการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นตัวเองได้ การพัฒนาที่ดี ต้องเป็นไปอย่างให้เกียรติและเคารพธรรม คือ เคารพความเป็นธรรมชาติ วิถีชีวิตของกันและกัน ไม่ซ้ำเติมกัน ไม่ฉวยโอกาสเอาแต่ผลประโยชน์ โดยไม่สนใจมนุษย์ และสรรพสิ่งรอบตัว”