ปฏิบัติการปกป้องพื้นที่ “ไม่เอาถ่านหิน” สู้ด้วยข้อมูล เรียกร้องแผ่นดินที่รักกลับคืน !!!

จากเสียงสะท้อนของชาวบ้านในพื้นที่ “ลุ่มน้ำคลองท่าลาด” เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยป่าไม้นานาพันธ์และสัตว์ป่านานาชนิด และที่สำคัญเป็นพื้นที่ป่าลุ่มต่ำผืนสุดท้ายของประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวบ้านจะหวงแหน และร่วมกันรักษาผืนแผ่นดินแห่งนี้

แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงเริ่มเข้ามาเยือน นโยบายสร้างแหล่งอุตสาหกรรมเข้ามาครอบงำ ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์จับจองพื้นที่ กลายเป็นยุค “ป่าแตก” มีการเปิดสัมปทานอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ผืนแผ่นดินที่เคยสมบูรณ์ กลายสภาพเป็นผืนทราย สร้างความเจ็บปวดอย่างใหญ่หลวงให้กับชาวบ้าน

และนี่เป็นเสมือนบทเรียนของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ที่เพียงแค่มุ่งหวังผลประโยชน์ในระยะสั้น!!!               

นันทวัน หาญดี ผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ในฐานะผู้ที่ทำกินในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาดมาหลายสิบปี เห็นสภาพการเปลี่ยนแปลง บอกเล่าในเวทีประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2555 ในหัวข้อเอชไอเอชุมชนสร้างอำนาจทางปัญญา ในการกำหนดอนาคตตนเอง และสังคม ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  และภาคีเครือข่ายว่า เหตุการณ์ที่เห็นชัดคือเมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกกะวัตต์ เริ่มเข้ามาในพื้นที่ ทำให้สภาพแวดล้อมที่เคยอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตที่คนอยู่กับป่าด้วยกัน พึ่งพาอาศัยกันหายไป ความสุขหายไปในพริบตาเพราะนอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเข้ามาให้พื้นที่แล้ว ยังมาใช้แหล่งน้ำ ปล่อยมลพิษ และสารปนเปื้อนในแหล่งอาหาร กระทบต่อพืชพันธ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาดที่เป็นเสมือนคลังความรู้เคลื่อนที่ด้านเกษตรอินทรีย์ เป็นหน่ออ่อนของระบบอาหาร และคลังสำรองพันธุกรรมพื้นฐานต้องสูญสลายไปพร้อมๆ กับการเข้ามาของสิ่งที่หลายฝ่ายให้คำนิยามว่า “ความเจริญ”

ขณะที่ โยธิน มาลัย เครือข่ายติดตามโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา กล่าวย้อนให้ฟังว่า ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ กำลังคืบคลานเข้าสู่พื้นที่ แต่ชาวบ้านในพื้นที่กลับไม่มีใครรู้เลยว่าจะส่งผลกระทบต่อมากน้อยเพียงใด แม้จะพยายามติดต่อขอข้อมูลการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แต่กลับได้รับผลตอบกลับว่าโครงการดังกล่าวเป็นความลับ ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ทั้งๆ ที่ความจริงเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก และตนเองในฐานะชาวบ้านในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำไมจึงไม่มีสิทธิที่จะรับรู้ว่าอนาคตจะต้องเผชิญกับชะตากรรมอะไรบ้าง

จากการไม่รู้ข้อมูล สู่การต่อสู้เพื่อการเข้าถึงข้อมูลนำมาสู่กระบวนการจัดการ และต่อต้านอย่างมีแบบแผน โดยเริ่มต้น คือการให้ข้อมูลกับชาวบ้านแบ่งกลุ่มศึกษาวิเคราะห์ เพราะเรารู้แล้วว่าการจะสู้และชกแบบมวยวัดคือการปิดถนนประท้วงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ

หลักจากให้ความรู้กับชาวบ้าน รวมไปถึงเด็กและเยาวชน ก็ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ไปพร้อมๆ กับการยื่นหนังสือเรียกร้องตามหน่วยงานต่างๆ ด้วย และหนึ่งในนั้นก็ได้ยื่นขอใช้สิทธิตามมาตรา 11 ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้มีการประเมินผลกระทบสุขภาพโดยชุมชนขึ้นควบคู่กันไปด้วยอีกครั้ง โดยข้อกังวลใจของชาวบ้านไม่ใช่มีเพียงแต่มลพิษที่จะเกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน แต่ยังรวมถึงมลพิษจากสาเหตุอื่นๆ และปัญหาการแย่งชิงน้ำด้วย

ปฎิบัติการปกป้องพื้นที่วิถีชุมชนได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการหลังจากการขอยื่นใช้สิทธิ การทำเอชไอเอชุมชนจึงก่อกำเนิดขึ้น โดยมี สช. เป็นเสมือนพี่เลี้ยงในการต่อสู้ด้วยข้อมูล  พูลเพ็ชร สีเหลืองอ่อน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมกลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต กล่าวว่า การทำเอชไอเอชุมชน ในตอนแรกชาวบ้านไม่มีใครเข้าใจว่าคืออะไร เรียกได้ว่าเริ่มต้นแบบมะงุมมะหงาหรา แต่หลังจากได้รับคำแนะนำก็จัดประชุมหารือ และสกัดประเด็นปัญหาใหญ่จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ข้อค้นพบคือปัญหาเรื่องน้ำและเกษตรกรรม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน

หลักการง่ายๆ ของการทำเอชไอเอ คือ 1.เก็บข้อมูล ศึกษาให้เห็นชัดถึงศักยภาพของพื้นที่ ประกอบกับการหาข้อมูลโรงไฟฟ้า ศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ โดยการสำรวจข้อมูลเชิงประจักษ์ และลำดับเหตุการณ์เปรียบเทียบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำแผนที่ชุมชน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและคุณค่า ไม่ใช่จะให้ใครนำอะไรมาจับใส่ไว้ในชุมชนได้ เนื่องจากทุกพื้นที่ ทุกตาราเมตร ล้วนมีคุณค่า

2. ประมวลข้อมูลผนวกกับการต่อสู้ด้วยแนวคิดนิเวศวิทยา และระบาดวิทยา เพื่อให้เห็นผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างชัดแจ้ง และใช้หลักข้อมูลมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตามหลักสากล  3.จัดเวทีสาธารณะ นำเสนอผลการศึกษาต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หน่วยงานราชการ เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้สมบูรณ์ที่สุด  4.เชิญผู้เชียวชาญด้านต่างๆ ช่วยตรวจสอบข้อมูล และยกสุดท้ายคือการสื่อสารนโยบาย โดยเสนอผลการศึกษาต่อ คชก. เพื่อยับยั้งโครงการโรงไฟฟ้าฯ และท้ายที่สุด ข้อมูลที่เข้มแข็งและชาวบ้านทุกคนที่ร่วมต่อสู้ด้วยหัวใจ ทำให้การทำเอชไอเอชุมชนกลายเป็นอาวุธสำคัญ ที่ทำให้สังคมหันกลับมาสนใจวิถีชีวิตของชาวท่าลาด

“เอชไอเอ” เป็นเสมือนเครื่องมือที่ทำให้ชุมชนได้ร่วมกันเรียนรู้ ทำให้พวกเรารักและหวงแหนชุมชน และทำให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตตนเอง”

นี่คือคำบอกเล่าที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า “เอชไอเอ” จะเป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อสร้างสุขภาวะในชุมชนได้อย่างแท้จริงต่อไป