เขื่อนแม่ขาน: สร้างหรือไม่? ได้หรือเสีย? ชวนมาล้อมวงคุยกันที่ “เวทีเสวนา จับต้น(น้ำ) ชนปลาย(น้ำ)”

 เขื่อนแม่ขาน: สร้างหรือไม่? ได้หรือเสีย?

ชวนมาล้อมวงคุยกันที่ “เวทีเสวนา จับต้น(น้ำ) ชนปลาย(น้ำ)”

ภาพประกอบจากโรงเรียนรุ่งอรุณ

                    เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 คณะนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนา “จับต้น(น้ำ) ชนปลาย(น้ำ)” ขึ้นที่อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรเข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย คุณสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ คุณนภดล โค้วสุวรรณ ผู้แทนจากกรมชลประทาน คุณพะตี่จอนิ โอโอเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอแห่งดอยแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และ คุณพะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือและผู้นำชุมชนบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
                   การเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในจัดทำโครงการ “การศึกษาวิถีพึ่งพิงและภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรป่าและน้ำกรณีศึกษาบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่” ของคณะนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งได้ลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาวปกาเกอะญอ บ้านสบลาน และได้จัดทำผลงานออกมาเป็นรายงานเอชไอเอชุมชนภายใต้ชื่อ “โอมื่อโชเปอ อยู่ดีมีสุข” โดยพื้นที่บ้านสบลานเป็นชุมชนในพื้นที่แผนการก่อสร้างเขื่อนแม่ขานเพื่อปิดกั้นลำน้ำขานที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง อันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านสบลานและอีกหลายหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ขาน นอกจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเตรียมประกาศให้พื้นที่บ้านแม่สบลานและชุมชนใกล้เคียงซึ่งตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติสะเมิงเป็นเขตอุทยานแห่งชาติออบขานอีกด้วย ทั้งการพัฒนา และการอนุรักษ์ที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ จะนำมาอะไรมาสู่ชาวบ้านสบลานบ้าง เป็นประเด็นหนึ่งที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ให้ความสนใจ และได้ลงไปศึกษาหาข้อเท็จจริงในพื้นที่

                   จุดประสงค์ของโครงการศึกษาภาคสนามดังกล่าวคือ เพื่อศึกษาวิถีพึ่งพิงและภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรป่าและน้ำ และเพื่อจัดการรายงานเอกสารให้เป็นรายงานผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ที่ศึกษาโดยพวกเขาร่วมกับชุมชน โดยเริ่มต้นจากโจทย์ที่ให้นักเรียนเป็นนักวิจัยชุมชนต้นน้ำ ใช้เวลาศึกษาและอยู่อาศัยร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่บ้านสบลานซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลำน้ำขานเป็นเวลา 5 วัน ผลการศึกษาของคณะนักเรียนพบว่า ชาวปกาเกอะญอบ้านสบลานใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษในการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ ป่า และน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของปัจจัยในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน โดยเป็นการอยู่อาศัยที่พึ่งพาเกื้อกูลกันระหว่างคนกับธรรมชาติ ทำให้ชาวปกาเกอะญอใช้พื้นที่ป่าที่มีอยู่อย่างกว้างใหญ่ได้อย่างไม่สิ้นเปลือง เช่น การทำไร่หมุนเวียนที่เป็นวิธีการใช้ประโยชน์จากดินโดยที่ดินยังมีเวลาฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ และเป็นการทำเกษตรกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นน้อยที่สุด 

                   การจัดสรรพื้นที่ป่าความเชื่อแยกออกจากพื้นที่ป่าใช้สอย และป่าอนุรักษ์ โดยชาวปกาเกอะญอจะไม่ใช้ประโยชน์จากป่าความเชื่อเพื่อการทำมาหากิน เป็นการนำเอาความเชื่อท้องถิ่นเรื่อง ผี มาสร้างความผูกพันระหว่างคนกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับการใช้น้ำที่ชาวปกาเกอะญอจะมีความเชื่อเรื่อง ผีน้ำ เช่นกัน เป็นกุศโลบายที่ทำให้ชาวบ้านรักษาแหล่งน้ำไว้ได้ ตลอดจนภูมิปัญญาในการใช้เหมืองฝายเพื่อการผันน้ำเข้าสู่ไร่นา เมื่อเหมืองฝายที่สร้างจากวัสดุตามธรรมชาติผุพังลงก็จะย่อยสลายไปตามธรรมชาติ ไม่เป็นขยะตกค้าง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจากรุ่นสู่รุ่นที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนรุ่งอรุณได้เรียนรู้และรวบรวมมาจากหมู่บ้านสบลาน

                   ในส่วนของความคืบหน้าและความคุ้มค่าของโครงการเขื่อนแม่ขาน คุณนพดล โค้วสุวรรณ ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ก็มีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในปลายปี พ.ศ. 2555 และกรมชลประทานก็ได้รับมอบหมายให้ศึกษาว่าในพื้นที่อำเภอสันป่าตองมีโครงการเขื่อนใดที่มีศักยภาพในการป้องกันน้ำท่วม โดยในเบื้องต้นมีสองแห่งคือ เขื่อนแม่ขาน กับ เขื่อนแม่แจ่ม ปัจจุบันทางกรมชลประทานก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ทางกรมชลประทานก็ยังไม่ได้บรรจุโครงการนี้กลับเข้าไปในแผนงานก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจะมีคำสั่ง ซึ่งกรมชลประทานไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่

                   “นอกจากนี้ โครงการเขื่อนแม่ขานยังเป็นโครงการในพระราชดำริ เกิดขึ้นเมื่อกุมภาพันธ์ 2530 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ขานเพื่อส่งน้ำชลประทานให้กับพื้นที่สองฝั่งน้ำแม่ขานทางด้านท้ายน้ำ และพื้นที่ตอนล่างของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง บริเวณปลายคลองส่งน้ำสายใหญ่ เพราะปลายคลองส่งน้ำสายใหญ่ของแม่แตงมันเป็นปลายน้ำ และที่แม่แตงเป็นฝาย ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำ ทำให้น้ำส่งเข้าระบบไม่สม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นในช่วงที่มีความต้องการน้ำมากๆ จะมีการจัดรอบเวร ชุมชนที่อยู่ปลายน้ำไม่ได้รับน้ำเพียงพอ ก็ต้องหาอะไรมาเสริมเพื่อจะให้มีน้ำเพียงพอ จึงเกิดโครงการพระราชดำรินี้ขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเน้นย้ำว่าการสร้างเขื่อนต้องส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างน้อยที่สุด ซึ่งกรมชลประทานก็น้อมรับเอาพระราชดำรัสนี้ไว้ตลอด การก่อสร้างหรือการกระทำใดๆ ของกรมชลประทานจะต้องมีการศึกษาเบื้องต้นและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในท้องที่ตลอด” คุณนพดลให้ข้อมูลเสริม

                   สำหรับการสร้างเขื่อนแม่ขาน แบ่งออกเป็นสองกรณี ในกรณีแรกจะมีความจุ 25 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และกรณีที่สอง ความจุ 125 ล้าน ลบ.ม. โดยผู้บริหารกรมชลประทานพิจารณาแล้วว่าความจุที่สองจะมีประโยชน์มากกว่า ทางกรมชลประทานจึงได้ทำแผนก่อสร้างเรียบร้อย แต่จากการทำประชาพิจารณ์พบว่าประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย จึงไม่ได้มีการดำเนินการต่อ ต่อมาเมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่จึงมีการรื้อฟื้นแผนการขึ้นมาโดย กบอ. ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าทางคำสั่งให้ก่อสร้างแต่อย่างใด และหากมีการพิจารณาโครงการขึ้นมาดำเนินการใหม่ จะต้องรื้อฟื้นกระบวนการพิจารณาเบื้องต้นทั้งหมดโครงการจึงไม่สามารถเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นได้

                   กับคำถามที่ว่าเขื่อนเป็นการจัดการทรัพยากรน้ำที่ดีหรือไม่? คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ เสนอว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ส่งผลกระทบที่ไม่คุ้มค่า เพราะขอบเขตของผลกระทบนั้นเกิดขึ้นตลอดสายน้ำ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ต้นน้ำที่สร้างเขื่อน ซึ่งส่วนตัวเสนอว่าจะต้องบริหารจัดการน้ำโดยล้อไปกับธรรมชาติ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน ไม่ปลูกพืชเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ใช้น้ำมาก การบริหารจัดการน้ำโดยการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแล้วบอกว่าต้องใช้น้ำให้หมดทั้งลำน้ำเป็นแนวทางที่เราทำมา 40-50 ปี ซึ่งการบริหารจัดการน้ำจะต้องทำตลอดทั้งลำน้ำว่ามันสามารถเยียวยาลุ่มน้ำตอนล่างได้หรือไม่ ในกรณีแม่ขาน มันส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำปิงที่เป็นแม่น้ำใหญ่ และคิดว่าไม่เหมาะสมที่จะสร้างเขื่อนในพื้นที่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อทั้งชุมชนและป่าไม้ ซึ่งชุมชนเองก็ต้องการน้ำที่มาจากป่า ดีกว่าการสร้างเขื่อนขึ้นมาปิดลำน้ำและก็จะไม่มีเหลืออะไรให้รุ่นลูกหลานต่อไป

                   สำหรับผลการศึกษาของนักเรียนรุ่งอรุณครั้งนี้ทำได้ละเอียดและสะท้อนวิถีแห่งปกาเกอะญอแม่สบลานที่ยังพึ่งพิงฐานทรัพยากรป่าอยู่อย่างมาก และเป็นสิ่งที่ชุมชนกังวลว่าวิถีเหล่านี้จะหายไปพร้อมกับการเข้ามาของเขื่อน เป็นการศึกษาที่ยังไม่เคยเห็นหน่วยงานรัฐหรือสถาบันไหนจัดทำมาก่อน ควรจะนำข้อมูลชุดนี้เข้าสู่การพิจารณาการบริหารจัดการน้ำด้วย และเวทีวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่คนแม่สบลาน แต่ยังมีตัวแทนชุมชนจากหลายแห่งที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่มารวมตัวกันเพื่อรับรู้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนกัน นอกจากนี้เราควรตั้งคำถามกับหลักคิดเรื่องการ “เสียสละ” เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่คือคนทุกข์จัดเป็นความทุกข์ที่ความคิดของโครงการมองไม่เห็น เพราะไม่ว่าจะสร้างขนาดไหนก็ต้องอพยพและคนเฒ่าแก่ไม่อยากอพยพไม่อยากเปลี่ยนแปลงวิถีพวกเขาไป ต้องมาตั้งหลักให้ดีกับเป้าหมายและความคุ้มค่า

                   ด้าน ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต เสนอให้สังคมเปลี่ยนมุมมองเรื่องการรับมือกับกระบวนการพัฒนาโดยรัฐว่า ไม่ควรพึ่งพารัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนในทุกเรื่อง เพราะมีตัวอย่างโครงการพัฒนาหลายโครงการที่รัฐทำโดยไม่ฟังเสียงของคนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปแล้ว มีการเกิดขึ้นของภาคประชาสังคม เช่น ภาคส่วนต่างๆ ที่มาร่วมเสวนากันในวันนี้ส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เมื่อประชาชนเดือดร้อนในเรื่องเดียวกันก็จะรวมตัว รวมหัวใจกันเพื่อทำงาน เมื่อรวมตัวกันติด ภาคประชาสังคมก็จะเริ่มตั้งคำถามกับภาครัฐ ทำหน้าที่ตรวจสอบภาครัฐ และภาคประชาสังคมก็สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมได้ ในกรณีแม่ขาน คนที่อยู่ต้นน้ำ คนที่อยู่ปลายน้ำ ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรียนรู้หัวอกหัวใจของกันและกันว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากเราได้รับรู้แล้ว แล้วการสร้างเครือข่ายก็จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการถักทอเครือข่ายทางสังคมที่ยั่งยืน