สช. – มหิดล จับมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม หวังสร้างสุขภาวะแก่ประชาชนและสังคมไทย


HIA in Thailand – สช. – มหิดล จับมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม หวังสร้างสุขภาวะแก่ประชาชนและสังคมไทย






 สช. – มหิดล จับมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
หวังสร้างสุขภาวะแก่ประชาชนและสังคมไทย

 
                    วันนี้ (19 ธันวาคม 2557) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ณ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) อาคารสุขภาพแห่งชาติ ที่มีเจตจำนงร่วมกันในการดำเนินงานการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันให้เกิด “พลังร่วมของสังคม” บนฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม
                    โดยมีสาระความร่วมมือที่สำคัญใน 3 ประการ คือ (1) ด้านวิชาการ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) หรือจัดกิจกรรมต่อสาธารณะเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและความเท่าทันในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการระดมความคิดเห็นร่วม และส่งเสริมการวิจัยร่วมกัน (2) ด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่าย ร่วมกันสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้เหมาะสมต่อบริบทต่างๆ และ (3) ด้านการบริหารจัดการ โดยประสานภาคีเครือข่ายของแต่ละหน่วยงานทั้งภาคนโยบายและการเมือง ภาควิชาการและวิชาชีพ และภาคประชาสังคมและธุรกิจ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน

                    นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA Commission ได้รับความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างดียิ่งจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยล่าสุดได้จัดตั้ง “ศูนย์รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ” ณ ห้องสมุดคณะฯ ผ่านระบบเครือข่ายห้องสมุดระหว่างสถาบันทั้งในและต่างประเทศ สำหรับให้ภาคประชาชน
ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการฯ ได้เข้าถึงข้อมูลและศึกษาเตรียมการล่วงหน้า และเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการศึกษา นอกจากนี้ การดำเนินงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจะต้องข้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม ชีวิตและวิถีชีวิตของผู้คนไม่ใช่เพียงเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับคณะฯ ที่มีองค์ความรู้ที่เป็นพหุสาขาและมีความมุ่งมั่นที่จะเป็น “สถาบันชั้นนำแห่งเอเชียด้านการศึกษา การวิจัยและการบริการวิชาการด้วยสหสัมพันธ์วิทยาอย่างบูรณาการเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร” การลงนามในครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะร่วมกันพัฒนาเทคนิคเฉพาะที่ต้องการศาสตร์และศิลป์ในการทำงานพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เป็นองค์รวมร่วมกัน
                    รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะฯ ในฐานะสถาบันการศึกษา มีความพร้อมที่จะร่วมเป็นหนึ่งในการพัฒนาวิชาการ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อการพัฒนาระบบและกลไกการดำเนินงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนและเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย 

                    นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบัน นโยบายในการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างกว้างขวาง ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เริ่มมีการรับรองสิทธิชุมชนและในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ก็ยังคงรักษาสิทธินี้ และมีการกำหนดเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ เพื่อเป็นเครื่องมือพิจารณาให้มีโครงการที่สร้างผลกระทบลดลงและลดความขัดแย้งในสังคม ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2558 จึงต้องติดตามให้มีการบรรจุเรื่องสิทธิและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและชุมชนไว้เช่นเดิมด้วย การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญที่จะยกระดับเรื่องการพัฒนาระบบข้อมูลและทรัพยากรคนที่มุ่งเน้นให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้ชุมชน เพราะสังคมจะฉลาดจะต้องมาจากผู้คนในสังคมที่ฉลาดและรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย ด้วยการร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามาเรียนรู้ในกว้างขวาง เป็นพลังของชุมชน เป็นหัวใจของนำข้อมูลข่าวสารที่มีในระบบสู่สังคมสาธารณะให้ได้รับรู้และเท่าทัน สิ่งนี้คือ ความเจริญของสังคมในอนาคต